คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: มะเร็งรังไข่กับแอสไพริน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในสหรัฐอเมริกา มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบบ่อยชนิดหนึ่ง และมะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่วินิจฉัยยาก เพราะมักจะมีอาการต่อเมื่อโรคลุกลาม นอกจากนั้นยังเป็นอาการที่ไม่เฉพาะ มักเป็นเพียง ท้องอืด เบื่ออาหาร ดังนั้นผลการรักษาโรคนี้จึงไม่ดี ดังเช่น พบโรคมะเร็งรังไข่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2014 สูงถึงประมาณ 20,000 คน และในจำนวนนี้เป็นโรคระยะลุกลามที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ประมาณ 14,000 คน ดังนั้น ในสหรัฐฯ จึงมีการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพ และหาวิธีโดยเฉพาะยาต่างๆที่จะลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ลงที่เรียกว่า Chemoprevention

เรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังวันนี้ ก็เป็นอีกการศึกษาหนึ่ง ในเรื่องของยา ที่ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และมีใช้ในการรักษาโรคต่างๆอยู่แล้วอย่างกว้างขวางว่า จะมีผลอย่างไรต่อการลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ ยาที่ว่า คือ “ยาแอสไพริน” ซึ่งเป็นยาลดไข้ ที่มีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือด และลดการอักเสบได้ และปัจจุบัน เป็นตัวยาที่แพทย์โรคหัวใจใช้รักษา และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ ซึ่งการที่แพทย์เลือกศึกษาในยาแอสไพริน นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ยังขึ้นกับข้อมูลที่ว่า ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ปัจจัยหนึ่ง คือเกิดมีการอักเสบของรังไข่จากสาเหตุต่างๆ

โดยเป็นการศึกษาของแพทย์จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และได้รายงานในวารสารการแพทย์ JNCI เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2557นี้ คณะแพทย์นำโดย นพ. Britton Trabert และคณะ ทั้งนี้เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยาที่รวบรวมผลจากการศึกษาที่เชื่อถือได้ทางการแพทย์ 12 การศึกษา โดยเป็นผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ประมาณ 8,000คน ไม่ได้เป็นรังไข่ประมาณ 12,000 คน ในการนี้ พบว่าผู้หญิงที่กินแอสไพรินทุกวันคิดเป็น 18%ของการศึกษา, ผู้หญิงที่กินยาแก้ปวดเอนเสดชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่แอสไพริน คิดเป็น 24%, ที่กินพาราเซตามอล คิดเป็น16%, ที่เหลือ ไม่ได้กินยาเหล่านี้

ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่กินแอสไพรินทุกวัน เกิดมะเร็งรังไข่ลดลง 20%(มีนัยสำคัญทางสถิติ)เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่บริโภค ผู้ที่บริโภคเอนเสดชนิดอื่นๆอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เกิดมะเร็งรังไข่ลดลง 10%(ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) ส่วนผู้ที่กินยาพาราเซตามอล(ไม่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ) ไม่มีผลต่อการลดการเกิดมะเร็งรังไข่

แต่แพทย์ผู้ศึกษาให้คำแนะนำว่า นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นที่มีความหวังของการศึกษาเท่านั้น ต้องการการศึกษาซ้ำที่ใช้ผู้ป่วยมากกว่านี้ ติดตามผลนานกว่านี้ และมีระเบียบวิจัยที่มีข้อแม้นอยกว่านี้ นอกจากนั้นเมื่อต้องการใช้ยาแอสไพรินทุกวัน ควรต้องระวังผลข้างเคียงจากยา คือ อาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหารและภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ดังนั้นการกินแอสไพรินเพื่อการนี้ จึงควรปรึกษาแพทย์และอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยากินเอง

สรุป การศึกษานี้ เป็นความหวังที่เป็นจริงได้ อย่างน้อยในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่(เช่น มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่) ที่ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการกินแอสไพรินเพื่อป้องกันโรคมะเร็งรังไข่

บรรณานุกรม

1. http://www.nih.gov/news/health/feb2014/nci-06.htm [2014,Sept20]

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์