คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผู้เป็นโรคมะเร็งจะรู้สึกอย่างไร?

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

วันนี้ได้พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมท่านหนึ่ง อายุ 48 ปี เธอเป็นทั้ง คุณครู ภรรยา ลูกสาวที่พ่อแม่ภูมิใจ และเธอเองมีลูกวัยเป็นนักศึกษา หญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง ทุกคนในครอบครัวดูตื่นกลัวกับโรคนี้มาก คนที่ดูจะเข็มแข็งที่สุด คือ ตัวผู้ป่วยเอง

การมีคนที่เรารักและผูกพันเป็นโรคมะเร็ง บ่อยครั้งเรามักไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเป็นกำลังใจให้กับคนที่เรารักและผูกพัน การที่เราจะทำตัวหรือช่วยเหลือคนที่เรารักและผูกพันได้ถูกต้อง เราควรต้องรู้ว่า ผู้ที่เราอยากดูแลช่วยเหลือนั้นรู้สึกอย่างไร ตามทฤษฎี คนที่จะบอกเราได้ดีที่สุดคือผู้ป่วยเอง แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยจะไม่สามารถบอกเราได้และแม้แต่จะบอกตัวเองก็ยังไม่รู้เพราะมักอยู่ในภาวะ กลัว กังวล สับสน ไม่แน่ใจ ไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรจะเกิด จะรับไหวไหม

มีการศึกษาด้านอารมณ์ของผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งจะมีอารมณ์ได้หลากหลายในแต่ละวัน บางจังหวะก็มีอารมณ์หนึ่งมาก บางจังหวะก็มีอีกอารมณ์ ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งเข้ามากระทบ หรือจากความคิดของผู้ป่วยเอง ยิ่งมีภาระมากก็ยิ่งมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง รวนเรง่าย

อารมณ์หลากหลายของผู้ป่วยมะเร็งในแต่ละวัน เช่น

  • กังวล
  • ไม่เชื่อ
  • ไม่แน่ใจ
  • เศร้า
  • หวั่นไหว กลัว
  • ห่วง
  • ไม่มั่นคง
  • สูญเสีย
  • มีความหวัง
  • ไม่มีความหวัง สิ้นหวัง
  • เบื่อหน่าย
  • หมดหวัง
  • ไม่อยากต่อสู้
  • อยากต่อสู้
  • ไม่อยากพบปะผู้คน
  • เบื่อหน่าย
  • เบื่ออาหาร
  • นอนไม่หลับ
  • ง่วงซึม
  • ปฏิเสธทุกอย่าง บางอย่าง
  • ขาดความมั่นคงในชีวิต
  • ต้องการความช่วยเหลือ
  • ไม่อยากรับความช่วยเหลือ
  • ขาดศรัทธา
  • ยึดมั่นในไสยศาสตร์
  • ไม่ยินดียินร้าย
  • หวาดระแวง
  • กลัวการสูญเสีย
  • เสียใจ เสียดาย
  • โกรธ หงุดหงิด
  • ส่วนน้อยอาจรู้สึกมีความสุข เพราะรู้แล้วว่าตนเองจะเผชิญกับอะไร
  • ฯลฯ

ทั้งนี้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด คือ การได้ระบาย และมีผู้ที่หวังดีต่อผู้ป่วยที่พร้อมรับฟังความรู้สึกของผู้ป่วย การดูแลของครอบครัวต่อผู้ป่วยที่ดีที่สุดและจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย จึงเป็นการมีเวลาให้ผู้ป่วย

เมื่อมีผู้ป่วยมะเร็งในครอบครัว ครอบครัวควรต้องช่วยกันจัดตารางชีวิตที่รวมถึงงานและการเรียนการศึกษา เพื่อช่วยกัน ให้มีเวลาในการพูดคุย รับฟัง เป็นกำลังใจ เป็นเพื่อนผู้ป่วย ทั้งช่วงอยู่บ้าน การไปพบแพทย์ และช่วงที่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาล

ดังนั้น คนในครอบครัวที่ใกล้ชิดผู้ป่วย จึงควรต้องมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งที่จะเป็นที่พึ่ง ที่พักพิงของผู้ป่วยได้ เพราะครอบครัวเองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัว ปรับชีวิตไปพร้อมๆกับผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันให้ผ่านวิกฤตของชีวิตไปด้วยกัน ด้วยความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน

สรุป การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ดีที่สุด คือ การมีเวลาให้ผู้ป่วย

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์