คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การฝึกพยาบาลให้สามารถส่องกล้องตรวจลำไส้ได้

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลจากการที่ทุกประเทศขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารที่เป็นผู้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นอย่างมาก รวมทั้งประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งด้วยอายุจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่องค์กรทางการแพทย์ทุกองค์กรมีความเห็นตรงกันว่า บุคคลทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกๆ 5 ปี ซึ่งวิธีการตรวจคัดกรองฯที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยม คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แต่จากการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้แพทย์ไม่สามารถให้บริการนี้ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจมีราคาสูง แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีเพียงประมาณ 50-60%ของผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีโอกาสได้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้นโรงพยาบาลต่างๆในประเทศตะวัตก จึงได้มีแนวคิดในการฝึกอบรมพยาบาลที่เป็นบุคลากรที่ขาดแคลนน้อยกว่าแพทย์ระบบทางเดินอาหาร และนำพยาบาลเหล่านี้มาฝึกเพิ่มเติม 1ปี (พยาบาลเรียน 4 ปี, แพทย์เรียน6 ปี และต้องใช้ทุน 3 ปี จึงกลับเข้ามาศึกษาต่ออีก 3 ปีเพื่อเป็นอายุรแพทย์ หรือศัลยแพทย์ และใช้ระยะเวลาฝึกเป็นแพทย์ระบบทางเดินอาหารอีกประมาณ 1-2 ปี) เพื่อการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการทางการส่องกล้อง ซึ่งถ้าผลของการฝึกตรวจส่องกล้องฯโดยผู้ไม่ใช่แพทย์นี้ ถ้ามีประสิทธิภาพดี ก็จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ เพราะจะลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่ใช้เวลาน้อยกว่าฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง และเงินเดือนของพยาบาลเพื่อการนี้ ก็ยังถูกกว่าเงินเดือนของแพทย์ด้วย

ซึ่งความคิดนี้ ได้เริ่มมีการศึกษากันอย่างต่อเนื่องในประเทศตะวันตก ซึ่งพบว่า พยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมและปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมของแพทย์ สามารถให้การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ผลเท่ากันกับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางฯ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ

เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2557 ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Clinical Gastroenterology and Hepatology ถึงการศึกษาทางการแพทย์ของโรงพยาบาล Erasmus Medical Center ในเมือง Rotterdam ประเทศ เนเทอร์แลนด์ ที่เปรียบระหว่างการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระหว่างพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อการนี้ (7คน) กับแพทย์เฉพาะทางที่ฝึกอบรมด้านโรคทางเดินอาหาร(8คน) ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญด้านส่องกล้องฯ การศึกษาอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 2008-2012 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว พยาบาลและแพทย์แต่ละคน ได้ทำการส่องกล้องฯตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งหมดในผู้ป่วยอย่างน้อย คนละ 100 ราย โดยรวมทั้งหมดผู้ป่วยได้รับการตรวจคัดกรองจากพยาบาลรวมทั้งหมด 866 ราย และจากแพทย์รวมทั้งหมด 1080ราย

ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพความแม่นยำในการตรวจ และผลข้างเคียงจากการตรวจ เท่ากัน ทั้งจากกลุ่มพยาบาลและกลุ่มแพทย์ โดยทั้ง2กลุ่มตรวจพบติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ได้ 27%เท่ากัน และมีอัตราเกิดผลข้างเคียง 0.5%เท่ากัน

จากการศึกษาครั้งนี้ น่าจะนำไปสู่การยอมรับและการจัดให้มีการฝึกอบรมพยาบาลเพื่อช่วยทดแทนการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางฯในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สูงขึ้นในระดับที่จะช่วยให้อัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

บรรณานุกรม

1. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21637086 [2014,Aug16]
2. http://www.gihepnews.com/index.php?id=15969&tx_ttnews[tt_news]=216929&cHash=1ef301f608988b95d373a914d257babd [2014,Aug16]

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์