คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การผ่าตัดรังไข่เพื่อป้องกันมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มีโรคมะเร็งอยู่ 2 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับ รังไข่ คือ โรคมะเร็งรังไข่ ซึ่งเกี่ยวข้องเพราะเป็นโรคของรังไข่เองโดยตรง และโรคมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ คือ รังไข่เป็นอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดและต่อการลุกลามแพร่กระจายโรคมะเร็งเต้านม ดังนั้น ในทางทฤษฎี การผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างจึงสามารถลดอุบัติการเกิดมะเร็งรังไข่ และลดทั้งอุบัติการณ์เกิดและลดโอกาสลุกลามแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมได้

แต่ในความเป็นจริง ไม่ตรงไปตรงมาอย่างทฤษฎี เนื่องจากปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งทั้งสอง และการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมขึ้นกับหลายปัจจัย ไม่ได้ขึ้นกับฮอร์โมนเพศหญิงเพียงปัจจัยเดียว และการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ ยังมีข้อจำกัดมาก เพราะการศึกษาจะขัดต่อจริยธรรมทางการแพทย์ เพราะการผ่าตัดรังไข่ มีผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน หลายประการ คือ ผลจากตัวการผ่าตัด ที่เสี่ยงต่อการดมยาสลบ แผลติดเชื้อ แผลเลือดออก ในระยะยาว คือ โรคกระดูกพรุน แก่ก่อนวัย เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและโรคสมองเสื่อมจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงก่อนวัยอันควร

จากการศึกษาทางการแพทย์หลายการศึกษา โดยเป็นการเฝ้าติดตามผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทั้ง 2 ชนิด ไม่ใช่การสุ่มตัวอย่างผู้ป่วย พบว่า

  • ในการป้องกันมะเร็งเต้านม:การผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง (ผ่าตัดก่อนเกิดโรค/ผ่าตัดเพื่อการป้องกัน) สามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเฉพาะในผู้หญิงกลุ่มยังไม่หมดประจำเดือนลงได้ประมาณ 50-70% (ตัวอย่างเช่น ในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะเกิดโรคมะเร็งเต้านม100% เมื่อผ่าตัดรังไข่ ประมาณ30-50% ของคนที่ผ่าตัดฯจะเกิดมะเร็งเต้านม แต่ถ้าไม่ผ่าตัดฯ โอกาสเกิดมะเร็งเต้านม คือ 50-70%)

    อนึ่ง ในผู้หญิงทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมประมาณ 12%

  • ในการป้องกันมะเร็งรังไข่: การผ่าตัดต้องตัดทั้งรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง (เพราะ 2 โรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน) ซึ่งการผ่าตัดสามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ได้ 80-90% (ตัวอย่าง เช่น ในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ 100% ถ้าตัดรังไข่และท่อนำไข่ โอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ คือ 10-20% แต่ถ้าไม่ผ่าตัดฯ โอกาสเกิดมะเร็ง คือ 80-90%)

    อนึ่ง ในผู้หญิงทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้ประมาณ 1.4%

สรุป

ผลจากการศึกษา ทางการแพทย์นำมาใช้ในทางปฏิบัติดังนี้

  1. การผ่าตัดรังไข่เพื่อป้องกันมะเร็งรังไข่ และ/หรือมะเร็งเต้านม จะให้การรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้ (เช่น มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่เรียกว่า BRCA1, BRCA2 เป็นต้น) และไม่สามารถป้องกันด้วยวิธีการอื่นได้ หรือ ผู้ป่วยปฏิเสธการป้องกันวิธีอื่นๆและเมื่อมีอายุ ตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป เพื่อผู้ป่วยจะได้มีครอบครัว และมีบุตรครบตามที่ประสงค์แล้ว และเพื่อไม่ให้เกิดการขาดฮอร์โมนเพศเร็วกว่าวัยมากเกินไป
  2. ผู้รับการผ่าตัดต้องยอมรับว่า การป้องกันไม่ได้ผล 100% ผู้รับการผ่าตัดยังคงมีโอกาสจะเกิดโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิด
  3. ผู้ป่วยต้องยอมรับผลข้างเคียงจากการผ่าตัด และผลข้างเคียงจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง
  4. หลังผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำกินฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจนในปริมาณต่ำๆต่อเนื่องในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 5 ปี ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่ำมากต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

ดังนั้น ในผู้หญิงที่มีความประสงค์จะผ่าตัดรังไข่เพื่อป้องกันมะเร็งรังไข่และ/หรือมะเร็งเต้านม ควรต้องปรึกษาแพทย์ถึงทั้ง ข้อดี ข้อเสีย ให้เข้าใจถ่องแท้ ก่อนการตัดสินใจ รักษา หรือ ไม่รักษาด้วยวิธีนี้

บรรณานุกรม

1. http://www.rcog.org.uk/womens-health/clinical-guidance/salpingoophercetomy-women-high-risk-ovarian-cancer-query-bank [2014,July19]
2. http://www.healthlinkbc.ca/kb/content/nci/ncicdr0000062771.html [2014,July19]
3. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/BRCA [2014,July19].

พญ. พวงทองไกรพิบูลย์