คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งต่อมลูกหมากกับมะเขือเทศ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เราคงเคยเห็นโฆษณาในทีวี เรื่องประโยชน์ของมะเขือเทศ ซึ่งในทางด้านโรคมะเร็งก็มีความเชื่อกันว่า มะเขือเทศสามารถป้องกัน, ช่วยลดโอกาสลุกลามแพร่กระจาย และการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้

ในทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ผลการศึกษาเรื่องของมะเขือเทศกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สรุปได้ ดังนี้

การศึกษาในห้องปฏิบัติการ ทุกการศึกษาให้ผลตรงกันว่า มะเขือเทศ อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสสระชนิดที่เรียกว่า ไลโคปีน(Lycopene) ในปริมาณที่สูงมาก สารชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มสาร Carotenoids แต่เป็นชนิดที่ไม่ได้เป็นต้นกำเนิดของวิตามินเอ ซึ่งสาร Carotenoids มีมากในพืช ผัก ผลไม้ที่มีสี แดง ส้ม เหลือง ทั้งนี้ ไลโคปีน เป็นสารที่ช่วยลดการบาดเจ็บเสียหายของเซลล์ปกติ ที่อาจกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง ต้านการทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่เป็นปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก(จึงอาจช่วยป้องกันและลดการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากได้) และช่วยต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก จึงอาจช่วยรักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้

ในสัตว์ทดลอง ให้ผลการศึกษาเช่นเดียวกับในห้องปฏิบัติการ แต่พบว่า การบริโภคมะเขือเทศของสัตว์ลดโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ดีกว่า การบริโภคไลโคปีนในรูปแบบของสารเสริมอาหาร ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ผลที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งต่อมลูกหมากของไลโคปีน ไม่ได้ขึ้นกับไลโคปีนเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะขึ้นกับสารอื่นๆที่มีในมะเขือเทศด้วย

การศึกษาในคน ทั้งในเรื่องการป้องกัน และการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากให้ผลขัดแย้งกัน ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า มะเขือเทศ หรือ ไลโคปีนในรูปแบบอาหารเสริม ป้องกัน หรือรักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้ ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์/แพทย์ที่ศึกษาอธิบายว่า เกิดจากการศึกษาในคนไม่สามารถควบคุมตัวแปร/ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการเจริญเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีหลายปัจจัยได้ ซึ่งตัวแปร/ปัจจัยสำคัญในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ อายุ ที่อายุยิ่งสูงขึ้น (สูงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป)โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งสูงขึ้น, เชื้อชาติ โรคจะพบได้สูงในคนผิวดำ และพบรองลงไปตามลำดับ คือ คนผิวขาว และคนผิวเหลือง/คนเอเชีย, และพันธุกรรม โดยพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะในครอบครัวสายตรง(พ่อ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) ส่วนปัจจัยอื่นๆที่สำคัญรองลงมา แต่จะสำคัญมากขึ้นถ้ามีหลายๆปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ อ้วน ไม่ออกกำลังกาย กินผักผลไม้ ปลา น้อย กินเนื้อแดง และ/หรือไขมันมาก โดยเฉพาะไขมันจากนม และดื่มนมมาก

อนึ่ง ที่การศึกษาในคนให้ผลตรงกัน คือ ยังไม่มีโทษจากการกินมะเขือเทศมากๆ ยกเว้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สมาก และอาจท้องเสีย และไม่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง และ/หรือทำให้มะเร็งลุกลามแพร่กระจาย แต่แพทย์ไม่แนะนำการกินรูปแบบเสริมอาหารในรูปแบบของไลโคปีน เพราะยังไม่มีการศึกษาระยะยาวในเรื่องนี้

สรุป

มะเขือเทศ เช่นเดียวกับถั่วเหลือง ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนถึงประโยชน์ในการป้องกันและรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก แต่พบว่าถ้ากินในรูปแบบของอาหารคือจากมะเขือเทศ ไม่พบผลข้างเคียง ยกเว้น ท้อง อืด เฟ้อ และท้องเสียถ้าบริโภคในปริมาณมาก

บรรณานุกรม

1. http://www.cancer.org/treatment/treatmentsandsideeffects/complementaryandalternativemedicine/dietandnutrition/lycopene [2014,July19].
2. http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/cam/prostatesupplements/healthprofessional/page3 [2014,July19].

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์