คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: มะเร็งเต้านมกับถั่วเหลือง

การศึกษาต่างๆทางการแพทย์ให้ผลตรงกันว่า โปรตีนของถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลืองเพราะมีส่วนประกอบของโปรตีนถั่วเหลืองน้อยมาก) อุดมด้วยโปรตีนจากพืช มีสารต้านอนุมูลอิสสระ ในกลุ่มของสารพฤษเคมีที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนแต่ออกฤทธิ์อ่อนกว่ามาก ด้วยคุณสมบัติทั้งหมด การบริโภคถั่วเหลืองต่อเนื่องในปริมาณที่พอเหมาะ ลดโปรตีนจากสัตว์ลง จำกัดอาหารไขมัน จึงส่งผลให้ลดอัตราการเกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์

แต่ถัวเหลืองกับมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้ข้อมูลจากการศึกษาทางการแพทย์ถึงแม้จะมีมากมาย และต่อเนื่อง ก็ยังสับสนมาก ยังไม่มีข้อสรุป ถึงประโยชน์และโทษที่แน่ชัดของถัวเหลืองกับมะเร็งเต้านม ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

คำตอบ คือ การศึกษาถั่วเหลือง กับโรคมะเร็งทั้งในด้านการป้องกัน หรือการลดอัตราเกิด และผลในการรักษา ทั่วไปมักไม่ใช่การศึกษาในลักษณะสุ่มตัวอย่าง แต่เป็นการศึกษาแบบเฝ้าสังเกตเปรียบเทียบระหว่างบุคคล2กลุ่ม คือ กลุ่มหญิงที่บริโภคถั่วเหลืองปริมาณมาก เช่น ในหญิงชาวเอเชียตะวันออก กับกลุ่มหญิงที่บริโภคถั่วเหลืองน้อย เช่นหญิงในประเทศตะวันตก การศึกษาในลักษณะเช่นนี้ จะควบคุมตัวแปรอื่นๆที่เป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งเต้านมไม่ได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมที่นอกเหนือจากการบริโภคถั่วเหลือง ได้แก่

  • เชื้อชาติ พันธุกรรม พบมะเร็งเต้านมได้สูงกว่าในหญิงตะวันตก
  • สูบบุหรี่ หญิงตะวันตกสูบบุหรี่สูงกว่า
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หญิงตะวันตกดื่มสูงกว่า
  • อ้วน หญิงตะวันตกอ้วนกว่ามาก
  • การเคลื่อนไหวร่างกาย หญิงตะวันตกทำงานออกแรงน้อยกว่า เพราะมักเป็นงานสำนักงาน หรือมีเครื่องช่วยผ่อนแรงในงานบ้านมากมายหลายชนิด ในขณะหญิงเอเชียตะวันออกมักเป็นเกษตรกร และงานบ้านต้องออกแรงมากกว่า
  • การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ หญิงตะวันตกบริโภคสูงกว่า หญิงเอเชียตะวันออกนิยมกินพืช ผัก สูงกว่า
  • การมีบุตร หญิงตะวันตก ที่บุตร/การตั้งครรภ์น้อยกว่า
  • การให้นมบุตร หญิงตะวันตกให้นมบุตรน้อยกว่า และในระยะเวลาสั้นกว่า

ดังนั้นจากปัจจัยเหล่านี้ ที่เป็นตัวแปรจึงทำให้การศึกษาทางการแพทย์ถึงความสัมพันธ์ของการบริโภคถั่วเหลืองกับมะเร็งเต้านมให้ผลการศึกษาที่สับสน ดังนั้นแพทย์โรคมะเร็งทุกคน จึงมีความเห็นสอดคล้องกันว่า

แพทย์ไม่ห้ามการบริโภคถั่วเหลือง เคยบริโภคอย่างไรก็บริโภคอย่างนั้น แต่ถ้าไม่เคยบริโภคมาก่อนเกิดมะเร็ง แพทย์แนะนำให้บริโภคในปริมาณปานกลาง ตัวอย่างง่ายๆ คือ วันละ กล่อง เป็นต้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่กินยาฮอร์โมนรักษามะเร็งเต้านม เช่น ยา ทามอกซิเฟน (Tamoxifen หรือย่อว่า Tam) ทั้งนี้จนกว่าการศึกษาทางการแพทย์จะออกมายืนยันชัดเจนถึงประโยชน์และโทษของถั่วเหลืองกับมะเร็งเต้านม

ช่วงระหว่างรอผลการศึกษา การดูแลตนเอง คือ

  • ถ้าจะบริโภคถั่วเหลืองให้บริโภคในปริมาณปานกลาง
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน จำกัดไขมัน เนื้อสัตว์ โดยกินปลาชดเชย จำกัดแป้งและน้ำตาล และอาหารเค็ม
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ดื่มสุราได้ไม่เกินวันละ 1 ดริงค์ (Drink)

บรรณานุกรม

1. http://www.breastcancer.org/tips/nutrition/reduce_risk/foods/soy [2014,June20].
2. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22648714 [2014,June20].
3. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11694655 [2014,June120].

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์