คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำคืออะไร?

ในโรคมะเร็ง มีอีกภาวะหนึ่งที่เป็นปัญหา และเป็นที่กังวลของทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และทีมแพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษาผู้ป่วย นั่นคือ ภาวะย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง

ภาวะย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง (Recurrence) คืออะไร? ภาวะย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง หมายถึง ภายหลังครบการรักษาทั้งหมดแล้ว แพทย์ตรวจวินิจฉัยไม่พบรอยโรคมะเร็งหลงเหลืออยู่ และผู้ป่วยมีอาการปกติ ต่อจากนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผู้ป่วยกลับมามีอาการจากโรคมะเร็ง และ/หรือแพทย์กลับตรวจพบรอยโรคมะเร็งอีก ทางการแพทย์เรียกโรคระยะนี้ว่า “มะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ” ซึ่งระยะเวลาที่ตรวจไม่พบโรคหลังครบการรักษา ยังไม่มีการให้นิยามที่แน่ชัด แต่แพทย์โรคมะเร็งส่วนใหญ่ มีความเห็นตรงกันว่า ประมาณ 6 เดือนหลังครบการรักษา โดยที่ถ้าพบรอยโรคก่อนหน้านี้ แพทย์โรคมะเร็งจัดเป็นการรักษาที่ยังมี”โรคมะเร็งหลงเหลืออยู่ตั้งแต่แรก (Persisted tumor)” เพียงแต่ยังไม่มีวิธีการที่ทำให้แพทย์ตรวจพบได้

สาเหตุของการกลับเป็นซ้ำ แพทย์ยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่า เกิดได้จากหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ เป็นธรรมชาติของโรคมะเร็งชนิดนั้นๆเองที่เกิดเป็นซ้ำๆได้เสมอ, จากยังหลงเหลือเซลล์มะเร็งแต่จำนวนน้อยมากจากการรักษาครั้งแรกอยู่ แต่ตอนนั้นแพทย์ยังไม่มีวิธีตรวจให้พบได้ เมื่อระยะเวลาผ่านไป รอยโรคโตขึ้นจึงตรวจพบได้, และ/หรือจาก ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเปลี่ยนแปลงต่ำลง เซลล์มะเร็งที่หลงเหลือในร่างกายที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จึงกลับมาเจริญเติบโตขึ้นใหม่ได้อีก

วิธีการในการวินิจฉัยว่า โรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ เช่นเดียวกับในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง คือ จากอาการของผู้ป่วย จากการตรวจร่างกาย จากการตรวจสืบค้นต่างๆ (ดังที่ เคยเล่าให้ฟังแล้วในตอนแรกๆของ Blog นี้) และบางครั้งอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่พบใหม่ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษา ก็จะเป็นวิธีเดียวกับในการรักษามะเร็งครั้งแรก โดยแพทย์ต้องประเมินระยะโรคใหม่ และดูว่ามีผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้างที่เกิดจากการรักษาครั้งแรก

การย้อนกลับเป็นซ้ำ มีได้ 3 ลักษณะคือ กลับเป็นซ้ำที่จุดเริ่มต้นเกิดโรค(Local recurrence), กลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้รอยโรคเดิม (Regional recurrence), และกลับเป็นซ้ำโดยมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง (Distant recurrence หรือ distant metastasis) นอกจากนี้ การกลับเป็นซ้ำรูปแบบต่างๆ ยังอาจเกิดร่วมกัน ได้อีกด้วย

การกลับเป็นซ้ำเฉพาะจุดกำเนิดโรค เช่น ในโรคมะเร็งเต้านม การกลับเป็นซ้ำที่จุดกำเนิดโรค คือ การกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่เต้านม ซึ่งการกลับเป็นซ้ำที่รอยโรคเดิมนี้ จะมีการพยากรณ์โรคดีกว่า การกลับเป็นซ้ำที่จุดอื่นๆ ซึ่งในบางโรคมะเร็ง ผู้ป่วยยังมีโอกาสรักษาได้หาย เช่น ในโรคมะเร็งเต้านมที่การรักษาครั้งแรกคือการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้

การกลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้รอยโรคเดิม จัดเป็นภาวะที่รุนแรง และมักตามมาด้วยการกลับเป็นซ้ำ ที่รอยโรคเดิม ร่วมกับมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆตามมาในที่สุด การกลับเป็นซ้ำลักษณะนี้ มักรักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้เป็นปี ขึ้นกับสุขภาพผู้ป่วย และชนิดของเซลล์มะเร็ง

การกลับเป็นซ้ำ จากการมีการแพร่กระจายของโรค และหรือ มีการกลับเป็นซ้ำหลายๆแบบร่วมกัน จัดเป็นภาวะรุนแรง ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั่น กล่าวคือ เป็นเดือน

การป้องกันภาวะกลับเป็นซ้ำเต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจลดโอกาสลงได้จากการรักษาภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ การดูแลให้ร่างกายแข็งแรงนั่นเอง ที่ง่ายๆคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ), กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดน้ำหนักตัวเกิน/อ้วน (จำกัด ไขมัน แป้ง น้ำตาล เนื้อแดง และเค็ม), และร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ

พ.ญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์