คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง: ตอน จีนมะเร็งของมะเร็งต่อมไทรอยด์

ในวงการแพทย์โรคมะเร็ง จีนหรือยีนมะเร็ง(Oncogene: สารพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็ง) เป็นต้นเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็ง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจที่จะศึกษาว่า จีนตัวใดจะเป็นต้นเหตุของมะเร็งชนิดใดได้บ้างเพื่อทั้งการป้องกัน และการค้นคว้าหาตัวยาใหม่ๆที่สามารถขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดนั้นๆได้โดยตรง หรือเป็นตัวยาที่ยับยั้งขัดขวางการทำงานของจีนมะเร็งนั้นๆนั่นเอง

งานศึกษาชิ้นนี้ ถึงแม้จะเป็นการศึกษาในผู้ป่วยเพียงรายเดียว ก็จุดประกายความหวังในการรักษาโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี

โดยเป็นการศึกษาผู้ป่วยชาย 1 ราย จากสหรัฐอเมริกา นำการศึกษาโดย นายแพทย์ MJ. Demeure และคณะ โดยที่ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary carcinoma ซึ่งโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลายครั้ง รวมทั้งมีโรคแพร่กระจายเข้าสู่ปอด โรคไม่สามารถผ่าตัดได้อีกแล้ว ดื้อต่อการใช้น้ำยาแร่รังสีไอโอดีน รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด การศึกษานี้รายงานในวารสารการแพทย์ World J Surg เมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

คณะแพทย์ได้ทำการตรวจเลือดผู้ป่วยรายนี้ หาจีนมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยมีจีนมะเร็งที่น่าเป็นต้นเหตุมะเร็งต่อมไทรอยด์นี้ จีนตัวนี้ คือ EML4-ALK translocation of a TRAPP oncogene mutation ซึ่งปัจจุบัน มียาที่ใช้ยับยั้งการทำงานของจีนตัวนี้ได้ โดยจัดเป็นตัวยาในกลุ่ม ยารักษาตรงเป้า(Targeted therapy) ยาตัวนี้ คือ ยาที่ชื่อ Crizotinib ซึ่งเมื่อแพทย์ได้นำมารักษาผู้ป่วยรายนี้ ก็พบว่าสามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้มากกว่า 6 เดือน

ผลที่ได้จากการศึกษานี้ จึงพอสรุปได้ว่า ในมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่ดื้อต่อการรักษามาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าตรวจพบว่า สาเหตุมาจากจีนมะเร็งชนิดที่มียาต้านจีนนั้นๆ สามารถรักษาผู้ป่วยให้อย่างน้อยโรคหยุดลุกลามได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ เพราะวิธีการตรวจหาจีนมะเร็งเป็นวิธียุ่งยาก ใช้เทคโนโลยีสูง ค่าใช้จ่ายการตรวจสูงมาก ตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาล บางประเทศ ยารักษาตรงเป้าเองก็ยังมีไม่กี่ชนิด แต่ละชนิดยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ เพียงแต่หยุดยั้งการเจริญเติบโตของโรคได้ชั่วขณะ นอกจากนั้นตัวยายังมีราคาแพงอย่างมหาศาล แพงจนไม่ สามารถนำยาเหล่านั้นมารักษาผู้ป่วยได้ทุกคน ยกเว้นจะเสียค่าใช้จ่ายเอง หรือเป็นตัวยาที่กำลังศึกษา และผู้ป่วยยอมรับที่จะเข้าสู่กระบวนการศึกษาประสิทธิภาพของยานั้นๆ

สรุป วันนี้เรามีข่าวดี แต่ปัจจุบัน ยังนำมาใช้ได้จำกัดเฉพาะกับผู้ป่วยน้อยราย

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24633422 [2014,May9].

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์