คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: กัญชากับโรคมะเร็ง

เราทุกคนคงรู้จักกัญชา (Cannabis หรือ Marijuana) กันดี เพราะเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง ที่มีคนสูบสูงที่สุดในโลก คือประมาณ 0.6% ของประชากรทั่วโลกต่อวัน

กัญชา จัดเป็นยาเสพติดที่มีโทษต่ำสุดในกลุ่มยาเสพติดทุกประเภท กัญชาได้มาจากพืชประจำถิ่นในเขตร้อนทั่วโลก เป็นพืชตระกูล Cannabis ทั้งนี้สารที่ออกฤทธิ์ เป็นยาเสพติด อยู่ในกลุ่มสารที่มีชื่อว่า Cannabinoids ซึ่งประกอบด้วยสารเสพติดมากมายหลายชนิด ประมาณ 50 ชนิดขึ้นไป แต่ตัวที่มีฤทธิ์แรงที่สุด และนำมาผลิตเป็นยาเม็ด คือ Delta-9-tertrahydrocannabinol ที่ย่อว่า THC/ทีเอชซี

กัญชา ออกฤทธิ์ทั้งกดและกระตุ้นระบบประสาทไปพร้อมกัน ส่งผลให้มีอารมณ์ดี รื่นเริง ดื่มด่ำ อยากอาหาร นอนหลับ แต่ถ้าเสพต่อเนื่อง หรือในปริมาณสูงจะส่งผลให้ คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย สับสน ประสาทหลอน สมาธิสั้น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถประกอบการงานอาชีพได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง นอกจากนั้นยังมีผลให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตต่ำ อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้ แต่ผลต่อการเกิดโรคปอดยังไม่มีรายงานชัดเจน

ดังนั้น จึงห้ามใช้/เสพกัญชาในหญิงตั้งครรภ์ เพราะจะส่งผลต่อทารกในครรภ์

กัญชาในธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งจากใบ ลำต้น และดอก ในรูปแบบของ การสูบ การกิน/ดื่มคล้ายชา

ในทางการแพทย์โรคมะเร็ง กัญชาในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่รุนแรงที่เกิดจากตัวโรคมะเร็งเอง และ/หรือจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยบางคนที่ใช้ยาแก้คลื่นไส้ไม่ได้ผล นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นการอยากอาหารของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ขาดอาหารจากไม่อยากกินอาหาร กินอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งทางการแพทย์นำมาใช้โดยผลิตในอุตสาหกรรมยา ในรูปแบบยากิน/ยาเม็ด ยาสเปรย์ และน้ำมันนวด/ทา/ยาใช้ภายนอก

อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาในการรักษาโรคมะเร็ง ในประเทศไทย และเกือบทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังไม่อนุมัติการใช้กัญชาในการรักษาโรคต่างๆรวมถึงในโรคมะเร็ง แต่ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา และแคนาดา มีกฎหมายอนุญาตใช้กัญชารักษาประคับประคองอาการผู้ป่วยโรคมะเร็งได้กรณีใช้ยาอื่นๆไม่ได้ผลได้ แต่ต้องใช้โดยแพทย์สั่งเท่านั้น

ในด้านที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง นอกจากที่นำมากัญชามาใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งดังกล่าวแล้ว ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า กัญชา อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ เพราะประกอบด้วยสารก่อมะเร็งหลายชนิดคล้ายในบุหรี่ รวมทั้งการเสพกัญชาเรื้อรัง จะส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง ดังนั้นกัญชา จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งของอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอได้เช่นเดียวกับบุหรี่

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสม กัญชาอาจกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของสัตว์ดีขึ้น

ทั้งนี้การศึกษาทางการแพทย์ในเรื่องของกัญชาในการเป็นสาเหตุ หรือในการรักษาอาการผิดปกติต่างๆ จำกัดมาก จึงไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ทั้งในด้านสนับสนุน และด้านคัดค้าน และเป็นเรื่องยากที่จะได้คำตอบในเร็ววัน

สรุป

  • ปัจจุบัน การใช้กัญชาทางการแพทย์ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมทั้งในประเทศไทย ยกเว้นบางรัฐในสหรัฐอเมริกา และในแคนาดา
  • ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาเพื่อการรักษาประคับประคองตามอาการในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • การเสพกัญชาต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด และมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอได้

บรรณานุกรม

  1. Cannabis (drug) http://en.wikipedia.org/wiki/Cannabis_(drug) [2014,Jan13].
  2. http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/cam/cannabis/patient/page1/AllPages/Print [2014,Jan13].