คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: อุจจาระลำลีบ เล็ก อุจจาระเป็นริบบิ้น

อาการมีลำอุจจาระลีบเล็กลงกว่าเดิม (ลีบเล็กจนอาจคล้ายลักษณะของเส้นโบว์/ริบบิ้น, Flat stool หรือ Ribbon-like stool) เป็นอาการทางการอุจจาระอีกอย่าง ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วส่งผลให้เกิดความกังวล กลัวกันมากว่าจะใช่มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือที่เรียกกันทั่วๆไปว่ามะเร็งลำไส้ หรือไม่ เพราะบทความทางการแพทย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่างๆมักระบุว่า อาการที่มีลำอุจจาระที่เล็กลง แต่ต้องเกิดอย่างต่อเนื่องนี้ อาจเป็นอาการหนึ่งของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

การที่ก้อนอุจจาระมีลำเล็กลง อาจเกิดได้จาก

ก. ช่องทางเดินในลำไส้ตีบแคบลงจาก ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ หรือ โพลิพลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดพบบ่อยของลำไส้ใหญ่ และมีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ หรือ โพลิพลำไส้ใหญ่)

ข. ช่องทางเดินในลำไส้ตีบแคบลงจาก มีพังผืดหรือมีแผลเรื้อรังของผนังลำไส้ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง

ค. ลำไส้อักเสบ ลำไส้จึงบีบตัวตลอดเวลาส่งผลให้ช่องลำไส้ตีบ แคบลง ลำอุจจาระจึงเล็กลง เช่น โรคลำไส้อักเสบที่เรียกว่า Inflammatory bowel syndrome หรือในภาวะท้องเสีย

ง. อุจจาระเหลว จากการที่ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น กากอาหารจึงเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ใหญ่และทวารหนักรวดเร็ว ไม่มีระยะเวลาสะสมให้เกิดก้อนอุจจาระในลำไส้ใหญ่ตอนล่างและในทวารหนัก ก้อนอุจจาระจึงมีขนาดเล็ก เช่น ใน ภาวะท้องเสีย

จ. ริดสีดวงทวาร ที่มีขนาดใหญ่ จึงก่อการตีบของช่องทางเดินอุจจาระ

ฉ. ท้องผูก อุจจาระออกไม่ได้ทั้งหมด ออกได้เพียงบางส่วน ลำอุจจาระจึงเล็กลง

ช. ก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ทำให้ช่องลำไส้ตีบแคบลง

ดังนั้น เมื่อมีอุจจาระลำลีบเล็กลงกว่าเดิม ให้สังเกตว่า ตนเองท้องผูกหรือไม่ ท้องเสียหรือไม่ ซึ่งเป็นอาการที่ดูแลตนเองได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ท้องผูก และเรื่อง ท้องเสีย) ซึ่งถ้าอาการดีขึ้นก็แสดงว่า ลำอุจจาระที่ลีบ เกิดจากภาวะดังกล่าว แต่ถ้าท้องผูก ท้องเสียกลับปกติแล้ว ลำอุจจาระก็ยังลีบเล็กอยู่ หรือมีอาการปวดท้อง หรือ อุจจาระเป็นเลือด หรือเป็นมูกเลือด หรือมีกลิ่นรุนแรงผิดปกติ ก็ควรต้องไปโรงพยาบาล เพราะเป็นอาการของ ลำไส้อักเสบ หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือถ้าอุจจาระเป็นเลือดสดอาจร่วมกับมีก้อนที่ทวารหนักหรือไม่ก็ได้ ก็อาจเป็นอาการของริดสีดวงทวาร หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่/มะเร็งทวารหนักได้ ก็ควรต้องไปโรงพยาบาลเช่นกัน

อนึ่ง ในจำนวนสาเหตุต่างๆ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก เป็นโรคมีโอกาสเกิดได้น้อยที่สุด และมักเกิดในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่เนื่องจากเป็นโรคที่รุนแรง แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายผู้ป่วยเสมอ เพื่อแยกโรคนี้ออกไปจากโรคอื่นๆก่อน ส่วนแพทย์ที่ควรไปพบ คือ ศัลยแพทย์ แต่ถ้าไม่สะดวก ก็พบแพทย์ทั่วไปก่อนก็ได้ แล้วแพทย์ที่ตรวจ จะเป็นผู้แนะนำเองว่า ควรทำอย่างไรต่อไป