คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: สูบบุหรี่มือสองกับโรคเบาหวานในสตรี แล้วเกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างไร?

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 มีรายการศึกษาทางการแพทย์โดย นพ.Martin Lajous และคณะ ในประชากรสตรีชาวฝรั่งเศส ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุหรี่มือสอง (การสูดดมควันบุหรี่) กับการเกิดโรคเบาหวานในสตรี โดยเป็นการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2535 ถึง 2550 (20ปี) ศึกษาในประชากร 37,343 คน (ไม่สูบบุหรี่) ทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ใหญ่ผู้หญิงว่าเคยได้สูบบุหรี่มือสองหรือไม่ โดยถ้าเป็นเด็ก การได้รับบุหรี่มือสอง หมายถึง พ่อแม่ อาจทั้ง 2 คน หรือคนใดคนหนึ่งสูบบุหรี่ในบ้าน แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ คือ สามี หรือคนร่วมบ้านสูบบุหรี่

ผลการศึกษาพบว่า “คนที่สูบบุหรี่มือสอง” เกิดเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่มือสองประมาณ 18% ซึ่งมากกว่ากันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ผู้ศึกษาได้แนะนำว่า การรักษาโรคเบาหวานมีค่าใช้จ่ายสูงมาก รวมทั้งมีผลโดยรวมต่อสุขภาพของประชาชนด้วย ดังนั้นการรณรงค์ให้ไม่สูบบุหรี่ โดยให้ทุกคนตระหนักถึงพิษของบุหรี่ทั้งต่อตัวผู้สูบเองและต่อผู้ใกล้ชิด (สูบบุหรี่มือสอง) จึง ได้ประโยชน์กว่ามาก

ทั้งนี้ ถึงแม้ผู้ศึกษาไม่ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุหรี่กับโรคมะเร็ง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีจากการศึกษาทางการแพทย์มากมายว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายโรค ที่สำคัญ คือ มะเร็งปอด และมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ เช่น มะเร็งกล่องเสียง และในทางอ้อม เบาหวานก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งในผู้หญิงหลายชนิด ที่สำคัญ คือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

นอกจากนั้น โรคเบาหวาน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งสูงขึ้นทั้งในขณะรักษาและในระยะยาว ทั้งจากการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และโดยเฉพาะรังสีรักษา

นอกจากโรคมะเร็งแล้ว เบาหวานยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานขึ้นตา และ โรคไตเรื้อรัง

นอกจากพิษของการสูบบุหรี่ (สูบบุหรี่มือหนึ่ง) และของการสูบบุหรี่มือสอง ยังได้มีการศึกษาพบว่า สารพิษจากควันบุหรี่ยังสามารถตกค้างอยู่ในบ้านได้อีกนานเป็นเดือน เช่น ที่เก้าอี้ ผ้าม่าน พรม ซึ่งคนที่สูดดมสารพิษที่ตกค้างเหล่านี้ เรียกว่า “ผู้สูบบุหรี่มือสาม” ดังนั้น จึงมีการทำนายว่า ในอนาคตน่าจะต้องพบ”โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มือสาม” อีกมากมายที่เดียว

ดังนั้นทุกคน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่จำกัดว่าเป็นผู้หญิงหรือ ผู้ชาย ควรต้องตระหนักถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่มือสอง และในอนาคตอาจเป็นการสูบบุหรี่มือสาม เพื่อ การมีสุขภาพที่แข็งแรงของคนในครอบครัว

บรรณานุกรม

  1. http://care.diabetesjournals.org/content/early/2013/06/03/dc12-2173.full.pdf+html [2013,Oct1].