คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผู้ป่วยมะเร็งควรมีลูกไหม?

ช่วงนี้มีคนถามบ่อยถึงว่า เป็นโรคมะเร็งแล้วควรมีลูกไหม?

-ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เป็นผู้ชาย มักไม่มีปัญหาในการมีบุตร ไม่ว่าผู้ป่วยจะอายุเท่าไร (แต่โอกาสมีบุตรยังคงขึ้นกับอายุเหมือนชายทั่วไป) เป็นมะเร็งอะไร รักษาด้วยวิธีใด และต้องการมีบุตรในช่วงใด ทั้งระหว่างรักษาและหลังครบการรักษามะเร็งแล้ว ยกเว้นกรณีเป็นโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย โรคมะเร็งอัณฑะ โรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่ หรือโรคมะเร็งทวารหนักซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้กับอวัยวะเพศ เพราะการรักษามะเร็งของอวัยวะเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้รังสีรักษาร่วมด้วย อาจส่งผลต่ออัณฑะ ส่งผลให้การสร้างอสุจิลดลงได้ และในมะเร็งต่อมลูกหมากที่มักเป็นโรคในผู้ชายที่อายุมากขึ้น มักตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการรักษากระทบต่อการสร้างอสุจิโดยตรง

นอกจากนั้น บุตรของผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง จะเช่นเดียวกับบุตรของชายทั่วไป ทั้งโอกาสการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยว่าเกณฑ์ โอกาสเกิดความพิการ และ/หรือ โอกาสเกิดเป็นมะเร็งของทารกทั้งในวัยเด็ก (โรคมะเร็งในเด็ก) และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ทั้งนี้ การที่โรคมะเร็งในผู้ชาย ไม่มีผลกระทบต่อการมีบุตร เป็นเพราะโรคมะเร็งและวิธีรักษาไม่มีผลกระทบต่ออัณฑะ จึงไม่มีผลต่อการสร้างอสุจิ ยกเว้นบางโรคมะเร็งดังได้กล่าวแล้ว

-ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เป็นผู้หญิง โอกาสพบผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็งน้อยมากๆ ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งมักพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (ผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำโดยธรรมชาติ) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยตั้งครรภ์เป็นโรคมะเร็งสูงขึ้น เพราะผู้หญิงปัจจุบันแต่งงานอายุมากขึ้น โรคมะเร็งที่มักพบในผู้หญิงตั้งครรภ์ คือโรคมะเร็งชนิดที่พบเกิดในคนอายุน้อยกว่า 40 ปีได้ คือ เกิดในช่วงวัยที่ยังมีประจำเดือนอยู่ เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

เมื่อตั้งครรภ์และเป็นโรคมะเร็ง ในช่วงการรักษาโรคมะเร็ง จะมีผลกระทบต่อทั้งมารดา และต่อลูก

-ผลกระทบต่อมารดา คือ

  • ฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เซลล์มะเร็งชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเจริญเติบโตลุกลามได้รวดเร็ว เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
  • หญิงตั้งครรภ์มักมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนคนปกติ ดังนั้นจึงมักทนการรักษาทางโรคมะเร็งไม่ไหว
  • หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาทางภาวะอารมณ์/จิตใจอยู่แล้ว จึงส่งผลกระทบถึงการรักษา มักให้การรักษาไม่ได้ตามตารางการรักษาของแพทย์

-ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ คือ

  • การแท้งบุตร
  • การคลอดก่อนกำหนด
  • เด็กมักมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โอกาสเกิดการติดเชื้อหลังคลอดจึงสูงกว่าเด็กคลอดปกติ
  • เด็กอาจพิการแต่กำเนิด
  • แต่ถ้าเด็กคลอด และอยู่รอดได้ โอกาสเกิดโรคมะเร็งไม่แตกต่างจากเด็กคลอดจากมารดาทั่วไป

ดังนั้น เมื่อยังอยู่ในวัยเจริญพันธ์และเป็นมะเร็ง วิธีที่ดีที่สุด คือ การคุมกำเนิด ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้แนะนำวิธีการให้ วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ การรวมมือกันในการคุมกำเนิดทั้งผู้ป่วยและสามี