คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผลข้างเคียงของยาต้านฮอร์โมน ชนิดเอไอ (AI, Aromatase inhibitor) ที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม

ยาต้านฮอร์โมนที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมมีหลายกลุ่มยา วันนี้จะคุยเรื่อง ผลข้างเคียงของยาในกลุ่มที่เรียกว่า เอไอ (AI ย่อมาจาก Aromatase inhibitor)

ยากลุ่มเอไอ ออกฤทธิ์โดยการต้านการทำงานของเอนไซม์ Aromatase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายในร่างกายผู้หญิงที่สร้างจากเนื้อเยื่อหลายชนิดในร่างกาย เช่น รังไข่ ต่อมหมวกไต และเนื้อเยื่อไขมัน ให้กลายเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่จะกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเต้านมเจริญเติบโตลุกลามและแพร่กระจาย

ยากลุ่มเอไอ เป็นยารับประทานโดยทั่วไปวันละ 1 ครั้ง ซึ่งยาจะใช้รักษาได้ผลดีเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่หมดประจำเดือนแล้ว และในร่างกายมีปริมาณเอสโตรเจนเหลือน้อยมากๆ รวมทั้งเซลล์มะเร็งต้องเป็นชนิดจับฮอร์โมน/มีตัวรับฮอร์โมนเท่านั้น

ปัจจุบันในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เซลล์มะเร็งจับฮอร์โมน ภายหลังการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาแล้ว แพทย์จะให้การรักษาต่อเนื่องด้วยยาต้านฮอร์โมน โดยถ้าผู้ป่วยยังมีประจำเดือนอยู่ แพทย์จะให้ยาต้านฮอร์โมน ทามอกซิเฟน (Tamoxifen หรือย่อว่า แทม/TAM) แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่หมดประจำเดือนถาวรแล้วแพทย์อาจให้ยาต้านฮอร์โมนเป็นยาเอไอตั้งแต่แรก หรืออาจให้ยา ทามอกซิเฟนนำก่อน 2-3 ปีแล้วจึงตามด้วยยาเอไอ ทั้งนี้ขึ้นกับ ลักษณะโรคของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนผู้ป่วยจะต้องกินยาต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลาประมาณ 5

ปี ยาเอไอปัจจุบันมี 4 ชนิด ได้แก่ –Anastrazole (ชื่อการค้า คือ Arimidex) –Exemestane (ชื่อการค้าคือ Aromacin) –Letrozole (ชื่อการค้าคือ Femara) และตัวใหม่ล่าสุดยังไม่แพร่หลายคือ Fadozole ซึ่งเมื่อเซลล์มะเร็งดื้อต่อยาชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มนี้ โรคอาจจะตอบสนองต่อยาอีกชนิดในกลุ่มนี้ได้อีก เช่น ถ้าดื้อต่อ Femara อาจเปลี่ยนมาใช้ยา Aromacin ได้ผล เป็นต้น

ผลข้างเคียงของยาต้านฮอร์โมนทามอกซิเฟนจะเล่าให้ฟังแยกต่างหากจากการเล่าครั้งนี้คะ ตอนนี้จึงจะเล่าเรื่องผลข้างเคียงของยาในกลุ่ม เอไอ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการที่ร่างกายขาดภาวะฮอร์โมนเพศหญิงที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งผลข้างเคียง คือ

  • คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะในระยะแรกของการรับประทาน แต่อาการมักจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปได้เองในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
  • อาการคล้ายอาการจากภาวะหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ ความรู้สึกทางเพศลดลง เนื้อตัวแห้ง ช่องคลอดแห้ง พบได้ประมาณ 3-6% มีอาการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ พบได้ประมาณ 28%
  • อาจพบ มีไขมันในเลือดสูงขึ้น ไม่มีการระบุตัวเลขว่า มีโอกาสเพิ่มขึ้นกี่%
  • การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ พบได้ประมาณ 1-3%
  • ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ พบได้ประมาณ 18-35%
  • โรคกระดูกพรุน ที่อาจเป็นสาเหตุของกระดูกหักง่าย พบได้ประมาณ 10%

ทั้งนี้ การดูแลตนเองเมื่อใช้ยาเอไอ คือ

  • ควรต้องเข้าใจถึงประโยชน์ในการควบคุมโรคมะเร็งและผลข้างเคียงของยา
  • การดูแลสุขภาพกายสุขภาพจิตเมื่อเกิดผลข้างเคียง
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน กินแคลเซียมเสริมอาหารตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำสม่ำเสมอ
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเสมอเมื่อมีอาการปวดกเนื้อ ปวดข้อ ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดกินเอง

บรรณานุกรม

  1. Nabholtz,J. (2008). Long term safety of aromatase inhibitors in the treatment of breast cancer. Therapeutics and Clinical Risk Management.4,189-204.