คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การออกกำลังกายกับโรคมะเร็ง

จากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมไม่หักโหม และการเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ สามารถลดอัตราเกิดโรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลงได้ รวมถึงการลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งลุกลามแพร่กระจาย และการกลับเป็นซ้ำ และยังสามารถลดอัตราเสียชีวิตของโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิดลงได้ด้วย โดยในโรคมะเร็งเต้านม ผลเหล่านี้จะชัดเจนมากขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มที่ยังมีประจำเดือนขณะเกิดโรค

ในส่วนโรคมะเร็งชนิดอื่นๆที่การศึกษาพบว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีแนวโน้มที่จะลดโอกาสเกิดโรคมะเร็ง ลดโอกาสโรคลุกลามแพร่กระจาย ลดโอกาสเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ และลดอัตราการเสียชีวิต คือ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ทั้งนี้สาเหตุที่ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดเหมือนในโรคมะเร็งเต้านมและในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากจำนวนผู้ป่วยในโรคมะเร็งเหล่านี้ที่ศึกษายังน้อยเกินไป รวมทั้งวิธีวิจัยยังมีข้อจำกัด ดังนั้น ในโรคมะเร็งเหล่านี้ จึงยังอยู่ในขั้นตอนที่จะศึกษาวิจัยให้ได้ผลที่แน่นอน

สาเหตุที่การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสม ส่งผลถึงการควบคุมโรคมะเร็งได้ จากการศึกษาเชื่อว่า การออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวร่างกาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา (Biological mechanism) ที่ส่งผลในการควบคุมสมดุลในการเจริญเติบโตของเซลล์ เช่น ผลต่อฮอร์โมนต่างๆ, ผลต่อการทำงานของอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของเซลล์, ผลต่อกระบวนการที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์, และต่อภูมิคุ้มกันต้านทาน ของร่างกาย อันนำไปสู่การกลายพันธ์ หรือการเจริญเติบโตที่ควบคุมไม่ได้ของเซลล์ ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับปัจจัยที่ส่งเสริมให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต ลุกลาม และแพร่กระจาย

ดังนั้นสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริการจึงรณรงค์ และสนับสนุนให้ประชาชนอเมริกัน รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งตระหนักถึงคุณค่าของการออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งนอกจากจะส่งผลในการควบคุมโรคมะเร็งแล้ว ยังช่วยเสริมให้ผู้ที่ออกกำลังกายได้เหมาะสม มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิติ คือ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

อนึ่ง แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง เกร็ด อาหารป้องกันมะเร็ง และ เกร็ดการออกกำลังกายป้องกันโรคมะเร็ง

แหล่งข้อมูล:

  1. Ballard-Barbash,R. et al. (2012). J Natl Cancer Inst. 104,815-840.
  2. Campbell,P. et al. (2013).JCO http://jco.ascopubs.org/content/early/2013/01/21/JCO.2012.45.9735.short?rss=1 [2013,Aug19].
  3. http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/prevention/breast/Patient/page3#Keypoint12 [2013,Aug 19].
  4. http://www.breastcancer.org/tips/exercise/why [2013,Aug19].
  5. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/prevention/physicalactivity [2013,Aug19].