คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ลักษณะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

เป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีการรักษา ยุ่งยากซับซ้อน ใช้ระยะการรักษานานและต่อเนื่อง (ผู้ป่วยจึงมักมีปัญหาในการใช้ชีวิตประ จำวัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ อาชีพการงาน) มีผลข้างเคียงระหว่างการรักษาที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเกื้อกูลอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงกว่าโรคทั่วไป และยังมีผลการรักษาที่ต่ำกว่าโรคทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงมักมีปัญหาชีวิตซับซ้อนโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางครอบครัวและปัญหาทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาจึงพบว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตาย

ในฐานะครอบครัว นอกจากควรดูแลผู้ป่วยมะเร็งด้วยความเมตตาแล้ว การได้รู้ว่าผู้ป่วยมะเร็งลักษณะใดที่มักคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย จะช่วยให้สามารถเพิ่มการดูแลเอาใจใส่และให้การระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพังจนมีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายได้ ทั้งนี้เพราะการฆ่าตัวตายของผู้ป่วย จะนำมาซึ่งความเศร้าโศกหม่นหมองเป็นอย่างมากของครอบครัว และการเศร้าโศกนั้นจะคงอยู่ยาวนานกว่าการสูญเสียผู้ป่วยด้วยภาวะตามธรรมชาติ ร่วมกับความรู้สึกผิดที่อาจคงอยู่ตลอดชีวิตของแต่ละคนในครอบครัว

ลักษณะผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ และ/หรือต้องการฆ่าตัวตาย ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่รู้สึกว่าตนเป็นภาระหนักของครอบครัว
  • ผู้ป่วยที่รู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนดูแล ช่วยตนเองไม่ได้
  • ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการทรมานจากโรคมะเร็ง เช่น จากอาการปวด เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางครอบครัว และ/หรือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • ผู้ป่วยที่มีพื้นฐานทางอารมณ์เป็นคนเศร้าหมองมาก่อน
  • ผู้ป่วยที่เคยมีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ หรือ มีประวัติโรคทางจิตเวชมาก่อน
  • ผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวมีปัญหาทางด้านอารมณ์/จิตใจ

บรรณานุกรม:

  1. Caraceni,A. et al. (2009).Palliative medicine.Philadelphia:Saunders Elsevier.