คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-299

      

      

      มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็กชนิดNon-Hodgkin lymphoma(NHL)พบได้ประมาณ 7%ของมะเร็งในเด็กโดยเฉพาะในเด็กโตและวัยรุ่น เป็นมะเร็งที่ปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงมาก อัตรารอดที่5ปีของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ 80% ซึ่งวิธีรักษาจะประกอบด้วยยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน และในเด็กที่มีปัจจัยโรครุนแรงจะมีการปลูกถ่ายไขกระดูกร่วมด้วย ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ในผู้ป่วยบางกลุ่มจะมีธรรมชาติของโรคลุกลามเข้าเยื่อหุ้มสมอง/เข้าสมองได้ การรักษาจึงมีการให้ยาเคมีบำบัดชนิดที่ตัวยาสามารถซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อสมองได้ เช่น ยาMethotrexateที่ใช้ขนาดยาสูง ยา Cytarabineขนาดยาสูง ยาเคมีบำบัดที่ให้ทางน้ำไขสันหลัง(Intrathecal chemotherapy) และรวมไปถึงการฉายรังสีปริมาณต่ำที่สมองในกระบวนการปลูกถ่ายไขกระดูก แพทย์จึงต้องการทราบว่า เด็กมะเร็งNHLที่มีการรักษาที่สมองนี้ เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจะมีผลกระทบต่อสมองในลักษณะใดบ้าง

      การศึกษานี้ มาจากสหรัฐอเมริกา คณะผู้ศึกษานำโดย นพ. Matthew J. Ehrhardt แพทย์โรคมะเร็งจาก โรงพยาบาล St. Jude Children's Research Hospital, Memphis, มลรัฐ Tennessee โดยศึกษาจากข้อมูลในเวชรเบียนของผู้ป่วยเด็กมะเร็งNHLในโครงการศึกษา St. Jude Lifetime Cohort ทั้งหมด 187ราย เป็นผู้ป่วยที่ต้องรอดชีวิตได้นานตั้งแต่ 10ปีขึ้นไป และขณะศึกษามีอายุตั้งแต่18ปีขึ้นไปโดยเป็นการศึกษาถึงผลในด้าน สติปัญญา การรับรู้/ความเข้าใจ ผลการเรียน และคุณภาพชีวิตที่มีผลกระทบมาจากโรค/การรักษา ทั้งนี้ผู้ป่วยขณะที่ศึกษามีอายุในช่วง 35.7 ± 8.9 ปีและมีชีวิตรอดนาน 25.2 ± 8.8 ปีนับจากวันวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรทั่วไปที่มีลักษณะทางกายภาพไม่ต่างจากกลุ่มผู้ป่วย(กลุ่มควบคุม)ซึ่งมีทั้งหมด 181ราย อายุอยู่ในช่วง 35.5 ± 11.0 ปี ผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มมีอายุไม่ต่างกันทางสถิติ(P = 0.86) และการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Cancer เมื่อ 15มกราคม 2018 ในการนี้มีผู้ป่วยได้รับการรักษาที่อาจส่งผลต่อสมองดังนี้ 23% ได้รับรังสีรักษาปริมาณต่ำที่สมอง, 37% ได้รับยา Methotrexate ขนาดยาสูง, 21% ได้รับยาCytarabine ขนาดยาสูง, และ 81% ได้รับยาเคมีบำบัดทางน้ำไขสันหลังร่วมด้วย

      ผลการศึกษาพบว่า วิธีรักษา ไม่ส่งผลต่อความเฉลียวฉลาด/ระดับสติปัญญาของผู้ป่วย แต่ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยด้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P< .05) ในด้านความจำ, การบริหารงาน, ความรวดเร็วในการทำงาน, และในการศึกษา ทั้งนี้การด้อยกว่า ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง แต่เกิดจาก ปัจจัยอื่น คือ ได้รับการศึกษาที่ต่ำกว่า, ภาวะไม่มีงานทำสูงกว่า, และสถานะภาพ/ตำแหน่งงานต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P< 0.03) ซึ่งการทำงานที่ได้ล่าช้ากว่า และการทำงานบริหารได้ด้อยกว่า นำไปสู่ ภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P ≤ .003), และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ด้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P< .05)เช่นกัน

      คณะผู้ศึกษา สรุปว่า แพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตระหนักถึงปัญหาของผู้ป่วยกลุ่มนี้ และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็วที่สุดก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดโรคทางด้านอารมณ์/จิตใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ด้อยลงไปจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124: 417-425(abstract)