คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-296

      

      

      ทั่วไป การรักษามะเร็ง วิธีรักษาหรือแนวทางการรักษาจะขึ้นกับอายุของผู้ป่วยด้วยร่างกายของผู้ป่วยในช่วงวัยต่างๆจะตอบสนองต่อการรักษาต่างกันที่รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการรักษาด้วย เนื่องสภาพการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายต่อยาต่างๆที่รวมไปถึงการกำจัดตัวยาส่วนเกิน/ตัวยาที่อันตรายออกจากร่างกาย เช่น อวัยวะในระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ตับ ไต หัวใจ ระบบประสาท ดังนั้น การรักษาหลักทั่วไปจึงแบ่งผู้ป่วยมะเร็งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

      แต่ปัจจุบัน แพทย์พบว่า มีผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ร่างกาย/จิตใจอยู่ในช่วงปรับตัวจากการเป็นเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ คือ ผู้ป่วยวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางครั้งจะอยู่ในการดูแลของแพทย์โรคเด็ก(กุมารแพทย์) บางครั้งก็อยู่ในการดูแลของแพทย์โรคทางผู้ใหญ่(อายุรแพทย์) ในผู้ป่วยมะเร็งก็มีปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งในมะเร็งชนิดเดียวกัน โดยเฉพาะมะเร็งระบบโรคเลือดที่จะพบบ่อยในช่วงวัยก้ำกึ่งนี้ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิ้น(Hodgkin lymphoma หรือ Hodgkin disease, ขอย่อว่า HL) แพทย์จึงประสงค์จะทราบว่า การรักษา HL ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ที่รักษาโดยใช้สูตรยา/สูตรการรักษาแบบเป็นผู้ป่วยเด็ก กับที่ใช้สูตรการรักษาแบบผู้ใหญ่ สูตรการรักษาใดจะให้ผลดีกว่ากัน

      การศึกษานี้นำโดย พญ. Tara O. Henderson ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ โรงพยาบาล University of Chicago Comer Children's Hospital นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา และได้รายงานการศึกษาในวารสารการแพทย์ชื่อ Cancer ฉบับ 1มกราคม 2018

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง เปรียบเทียบผู้ป่วย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 114 รายทั้งชายและหญิง ที่มีอายุช่วง 17 – 21 ปีโดยผู้ป่วยอยู่ในโครงการศึกษาชื่อ the Eastern Cooperative Oncology Group-American College of Radiology Imaging Network Intergroup adult E2496 Study ที่ให้การรักษาHLโดยใช้สูตรการรักษาแบบผู้ใหญ่ และเปรียบเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ได้รับสูตรการรักษาHLแบบผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในโครงการศึกษาชื่อ Children's Oncology Group (COG) AHOD0031 Study ที่มีผู้ป่วยทั้งหมด 391รายทั้งชายและหญิง อายุในช่วง 17-21 ปีเช่นเดียวกัน

      ผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มมีลักษณะโรคเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันคือ กลุ่มรักษาแบบผู้ใหญ่จะมีระยะโรครุนแรงกว่าคือ ระยะIII,IV =63% กลุ่มรักษาแบบสูตรยาเด็ก=29% ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P น้อยกว่า 0.001); กลุ่มรักษาแบบผู้ใหญ่ มีอาการบี/B symptoms= 63% กลุ่มรักษาสูตรยาเด็กมีอาการบี= 27% (P น้อยกว่า 0.001); กลุ่มรักษาแบบผู้ใหญ่มีขนาดก้อนมะเร็งเล็กกว่า คือ 33% รักษาแบบเด็กมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่= 77% (P น้อยกว่า 0.001); และรักษาแบบเด็กได้รังสีรักษาที่ก้อนมะเร็ง76% ต่อ 66% (P = 0.03)

      เมื่อติดตามผลการรักษาต่อเนื่อง พบว่า ที่5ปี FFS (Failure-free survival/ อัตราการมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ)= 68% และ OS (Overall survival/อัตราการรอดชีวิต)=89%ในผู้รักษาสูตรแบบผู้ใหญ่, และผู้รักษาแบบสูตรแบบเด็ก FFS=81%, OS=97% ซึ่งทั้ง2กลุ่มผลการรักษาแบบสูตรเด็กดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.001)และโดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มระยะโรคที่รุนแรงคือ ระยะIII,IV

      คณะผู้ศึกษา ได้สรุปผลการศึกษาว่า การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองHLในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว เมื่อใช้สูตรการรักษาแบบผู้ป่วยเด็ก จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาแบใช้สูตรการรักษาแบบผู้ใหญ่ และเพื่อให้ผลการศึกษามีความแม่นยำทางสถิติและเป็นที่ยอมรับในการนำมามาใช้เป็นมาตรฐานการรักษาHL จึงสมควรที่จะทำการศึกษาขั้นต่อไปที่เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า(Prospective study)

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124:136-44 (abstract)