คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งต่อมทอนซิลระยะลุกลามเฉพาะที่ที่ผ่าตัดได้

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-284

      

      มะเร็งต่อมทอนซิล จัดอยู่ในมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ เป็นมะเร็งพบได้เรื่อยๆ ไม่บ่อย เป็นมะเร็งของคนวัยกลางคนขึ้นไป และไม่ติด1ใน10 ของมะเร็งพบบ่อยในคนไทย พบได้ในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2-3เท่า ทั่วโลก ในผู้ชายพบได้ประมาณ 7.5 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคน ส่วนในผู้หญิงประมาณ 2.7 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน และเกือบทั้งหมดมักเป็นมะเร็งชนิด Squamous cell carcinoma โรคนี้ การรักษาหลักในโรคระยะลุกลามเฉพาะ(Locally advanced carcinoma)ที่ยังผ่าตัดได้ และเป็นมะเร็งชนิด Squamous cell carcinoma การรักษามี 3 วิธีหลัก คือ การใช้ยาเคมีบำบัด(เคมีฯ)ร่วมไปพร้อมกับการฉายรังสีรักษา ขอย่อว่า เคมีฯ+รังสีฯ (Concurrent chemoradiation, แพทย์มักย่อว่า CCRT); การผ่าตัด +กับ เคมีฯ+รังสีฯ; และการผ่าตัด+รังสีฯคือไม่มีการใช้เคมีฯ แพทย์จึงต้องการทราบว่า การรักษาทั้ง 3กลุ่มวิธี มีผลต่ออัตรารอดของผู้ป่วย(Overall survival rate/OS)ต่างกันหรือไม่

      การศึกษานี้ มาจากสหรัฐอเมริกา นำโดย แพทย์หูคอจมูก นพ. Dylan F. Roden จากมหาวิทยาลัย New York University โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยจาก the National Cancer Data Base ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมทอนซิลระยะลุกลามเฉพาะที่ ที่ยังผ่าตัดได้ทั้งชายและหญิงที่อายุไม่เกิน 70 ปี เป็นผู้ป่วยมะเร็งชนิด Squamous cell carcinoma ในช่วงปีค.ศ. 1998-2011 และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 1กันยายน ค.ศ. 2017 ในการนี้มีผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด 16,891 ราย ; ได้รับเคมีฯ+รังสีฯ 8,123 ราย (48.1%) ; ผ่าตัด+เคมีฯ+รังสีฯ 5,249 ราย(31.1%); และผ่าตัด+รังสีฯ 3,519 ราย(20.8%)

      ผลการศึกษาพบว่า อัตรารอดชีวิตที่ 3 ปี(ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ ที่มีโอกาสหายจากโรคมะเร็งจะขึ้นกับอัตรารอดที่3ปี)ของผู้ป่วยกลุ่ม ผ่าตัด+เคมีฯ+รังสีฯจะสูงสุดคือ 88.5% ; รองลงมาคือ ผ่าตัด+รังสีฯ = 84% ; และที่ควบคุมโรคได้น้อยที่สุดคือ กลุ่มได้เฉพาะ เคมีฯ+รังสีฯ = 74.2%; ซึ่งทั้ง3กลุ่ม ผลการรักษาต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P น้อยกว่า 0.0001 คณะผู้ศึกษาได้สรุปว่า โรคมะเร็งต่อมทอนซิลระยะลุกลามเฉพาะที่ที่ยังผ่าตัดได้ชนิด Sqamous cell carcinoma วิธีรักษาที่ได้ผลควบคุมโรคได้เหมาะสม ควรเป็น ผ่าตัด+เคมีฯ+รังสี

      ทั้งนี้ ประเทศไทยเรา การรักษามะเร็งต่อมทอนซิลระยะนี้ ก็มีแนวการรักษาเช่นเดียวกัน โดยจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ทั้ง 3 สาขา ที่จะพิจารณาว่า ผู้ป่วยใดจะเหมาะสมกับวิธีรักษาแบบใดที่สุด

บรรณานุกรม

  1. Cancer 2017;123(17):3269-76 (abstract)
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27245686 [2018, May 13].