คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนวิธีรักษามะเร็งหลอดอาหาร

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-281

      

      มะเร็งหลอดอาหาร พบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 10 ของชายไทย แต่ไม่ติดใน 10ลำดับในเพศหญิง เป็นมะเร็งที่เมื่อมีอาการ โรคมักลุกลาม และประกอบกับเป็นอวัยวะที่มีผลต่อการบริโภคอาหาร ดังนั้นมะเร็งชนิดนี้จึงมักมีการพยากร์โรคที่รุนแรง และรักษาได้ยากด้วยตำแหน่งของหลอดอาหารล้อมรอบอยู่ด้วยปอดและท่อเลือดแดง การรักษามักเป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับฉายรังสีรักษา แต่ปัจจุบัน เทคนิค การผ่าตัดหลอดอาหารพัฒนาขึ้นมาก แพทย์จึงมักนำการผ่าตัดมาใช้รักษามะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้น โดยมักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา

      การศึกษานี้ เพื่อต้องการทราบว่า การนำการผ่าตัดมารักษาร่วมด้วยตามหลังการรักษามะเร็งหลอดอาหารด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา ให้ผลการรักษาเป็นอย่างไร การศึกษานี้ นำโดยนักระบาดวิทยา ชื่อ Kushal B. Naik จากมหาวิทยาลัยEmory University มลรัฐแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 15 กันยายน ค.ศ. 2017

      การศึกษานี้ เป็นการศึกษาข้อมูล จาก The National Cancer Data Base ในช่วงปี ค.ศ. 2003-2011 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารระยะโรคที่ลุกลามเฉพาะที่(Locoregional advanced, ไม่ใช่โรคระยะที่1 หรือ มีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต)และเป็นผู้ป่วยที่สามารถทำการผ่าตัดหลอดอาหารได้ โดยเปรียบเทียบกันระหว่าง ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ได้รับการรักษาเพียง ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสัรักษาโดยการให้รังสีรักษาต้องเป็นภายใน 30 วันหลังได้รับยาเคมีบำบัด กับกลุ่มศึกษา คือ หลังได้ยาเคมี+รังสีรักษา +การผ่าตัดหลอดอาหาร โดยการผ่าตัดต้องทำหลังครบ ยาเคมีฯ+รังสีฯภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

       การศึกษานี้ มีผู้ป่วยทั้งหมด 11,122 คน, ในการนี้ 8,091 คน (72.7%)คือกลุ่มควบคุมที่ได้รับ ยาเคมีฯ+รังสีฯ และ กลุ่มศึกษา 3,031คน (27.3%)ที่ได้รับ ยาเคมีฯ+รังสีฯ+ผ่าตัด ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาที่ได้รับการผ่าตัดร่วมด้วย มีมัธยฐานของอัตราการรอดชีวิต(Median survival time) 32.5 เดือนซึ่งนานกว่า กลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 14.2 เดือน และคณะผู้ศึกษาได้สรุปว่า ในโรคมะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลามเฉพาะที่ การใช้ผ่าตัดร่วมกับยาเคมีฯและรังสีฯให้ผลการรักษาโรคได้ดีกว่า การรักษาเพียงยาเคมีฯร่วมกับรังสีฯ

      ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยเอง การรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลามเฉพาะที่นี้ แนวทางการรักษาก็จะเป็น ยาเคมี+รังสี+ผ่าตัด เช่นกัน แต่บ่อยครั้ง ผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและที่มีสภาพร่างกายขาดอาหารอย่างมาก แพทย์มักไม่สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหลอดอาหารที่เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ซับซ้อนที่ผู้ป่วยต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และ ถ้ามีโรคร่วมต่างๆ ผู้ป่วยต้องควบคุมโรคเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคเบาหวาน

บรรณานุกรม

  1. Cancer 2017;123(18):3476-85(abstract)