คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการกดการทำงานรังไข่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-280

      

      มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นตัวการหนึ่งในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นในสตรีมะเร็งเต้านมวัยยังมีประจำเดือน(มีฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่) การศึกษาต่างๆจึงระบุว่าฮอร์โมนเพศดังกล่าว เป็นตัวกระตุ้นการลุกลามของมะเร็งเต้านมได้ จึงได้มีการนำการรักษาโดยการกดการทำงานของรังไข่มาใช้ร่วมในการรักษามะเร็งเต้านมในสตรีวัยยังมีประจำเดือน ซึ่งการรักษากดการทำงานของรังไข่มีหลายวิธี แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่า ผู้ป่วยรายใดเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีใด ซึ่งวิธีกดการทำงานของรังไข่ เช่น การใช้ยาในกลุ่ม ยาGnRh การผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง หรือ การฉายรังสีรักษาที่รังไข่ทั้ง 2 ข้าง

      การศึกษานี้ แพทย์ต้องการทราบว่า ในกลุ่มสตรีมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดตอบสนองต่อฮอร์โมน(Hormone receptor/HR+) ที่มีการรักษา ด้วยวิธีมารตฐานทั่วไป คือ รักษาด้วยการผ่าตัด อาจร่วมกับยาเคมีบำบัด(ตามระยะโรค)ร่วมกับการใช้ยาต้านฮอร์โมน(กลุ่มควบคุม) เปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มศึกษาที่ใช้การผ่าตัด(อาจร่วมกับยาเคมีบำบัดตามระยะโรค)ร่วมกับยาต้านฮอร์โมน และร่วมกับการกดการทำงานของรังไข่ (กลุ่มศึกษา)โดยศึกษาผลในด้านการควบคุมโรคที่5ปี(Breast cancer free interval/BCFI)และผลข้างเคียงจากการรักษา(คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย)

      การศึกษานี้นำโดย พญ. Poornima Saha แพทย์ด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาล Northshore University Hospital, New York สหรัฐอเมริกา และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา Journal of Clinical Oncology/JCO ฉบับ วันที่ 20กันยายน 2017

      การศึกษานี้ เป็นการศึกษาในโครงการศึกษาชื่อ the Suppression of Ovarian Function Trial (SOFT)and Tamoxifen and Exemestane Trial (TEXT) โดยมีกลุ่มศึกษาทั้งหมด 582 ราย ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มใช้การรักษากดการทำงานของรังไข่ร่วมด้วย ให้ผลการรักษา BCFT ดีกว่าผู้ป่วยกลุ่มไม่ใช้การกดการทำงานของรังไข่ร่วมด้วย และผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้การกดการทำงานของรังไข่ร่วมด้วยจะมีผลข้างเคียงคือ อาการจากภาวะขาดประจำเดือนสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม แต่ทั้งนี้ อาการจากวัยหมดประจำเดือนไม่ได้สูงกว่าสตรีวัยหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ

      ปัจจุบัน ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 35 ปี และเซลล์มะเร็งเป็นชนิดตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศ แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการกดการทำงานของรังไข่ร่วมด้วย โดยจะพิจารณาผู้ป่วยตามความเหมาะสมเป็นรายๆไป เช่น สุขภาพร่างกาย การตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมน ความต้องการมีบุตร ซึ่งการรักษาร่วม ด้วยการกดการทำงานของรังไข่ ก็เป็นวิธีการที่แพทย์ไทยได้นำมาใช้แล้ว โดยพิจารณาแนะนำในผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

บรรณานุกรม

  1. JCO.2017;35(27): 3113-3122 (abstract)