คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนการตั้งครรภ์หลังเป็นมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-276

      

      มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้ทั้งในสตรีวัยมีประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน ซึ่งในวัยมีประจำเดือน ผู้ป่วยยังสามารถตั้งครรภ์ได้ และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมวัยมีประจำเดือนหลายรายที่ยังไม่เคยมีบุตร จึงประสงค์อย่างยิ่งที่จะมีบุตร/ตั้งครรภ์ แพทย์จึงอยากทราบว่า การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในสตรีวัยมีประจำเดือนในโรคระยะที่มีโอกาสรักษาหายได้ค่อนข้างสูง คือระยะที่ยังไม่มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และได้รับการรักษามะเร็งเต้านมครบไปแล้วว่า การตั้งครรภ์จะส่งผลต่อผู้ป่วยอย่างไรในด้านโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่เรียกว่า Disease free survival (DFS) และในด้านอัตราการอยู่รอดจากโรค(Overall survival/OS) เพราะในการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่อาจกระทบต่อการพยากรณ์โรคมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มที่เซลล์มะเร็งชนิดที่มีการจับฮอร์โมนเพศ(ER+, Estrogen+)

      การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์โรงพยาบาล Institute Jules Bordet ประเทศเบลเยียม ที่นำโดย นพ. Matteo Lambertini และได้นำเสนอผลการศึกษาในที่ประชุมวิชาการประจำปีของแพทย์โรคมะเร็งสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ ASCO (American Society of Clinical Oncology) ที่จัดขึ้น ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อ 2-6มิถุนายน ค.ศ. 2017

      การศึกษานี้ เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสตรีวัยยังมีประจำเดือนและระยะโรคยังไม่มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิต 1,207 ราย ที่เข้ารับการรักษาในหลายโรงพยาบาลในเบลเยียม ในการนี้ มีผู้ป่วยหลังครบการรักษาแล้วตั้งครรภ์ 333 ราย ไม่ตั้งครรภ์ 874 ราย และผู้ป่วยทุกรายได้รับการติดตามผลการรักษาอย่างน้อย 10 ปี โดยในกรณีตั้งครรภ์จะนับการติดตามหลังจากการตั้งครรภ์ไปแล้ว

      ผลการศึกษาพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติใน DFS (p = 0.68) ในสตรีมะเร็งเต้านมฯ กลุ่ม ER+ ที่ตั้งครรภ์ และที่ไม่ตั้งครรภ์, ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติใน DFS (p = 0.10)ในสตรีมะเร็งเต้านมฯ กลุ่ม ER - ที่ตั้งครรภ์ และที่ไม่ตั้งครรภ์, และในสตรีมะเร็งเต้านมฯที่ศึกษาทั้งหมดรวมทุกกลุ่มก็ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติใน DFS (p = 0.15), และในส่วนของ OS จะไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.32) เช่นกันในกลุ่ม ER+, แต่ในกลุ่มสตรีที่ER- การศึกษาพบว่า สตรีกลุ่มตั้งครรภ์มี OS ดีกว่าสตรีกลุ่มไม่ตั้งครรภ์อย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.01) โดยคณะผู้ศึกษาไม่ได้อธิบายเหตุผล แต่ผู้เขียนคิดว่า น่ามาจากผู้ป่วยกลุ่ม ER- โรคมะเร็งฯน่ามีการตอบสนองที่ดีต่อฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาได้ศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดการแท้งบุตร ก็พบว่า การแท้งบุตรไม่ส่งผลต่อ OS ในผู้ป่วยทั้งกลุ่ม ไม่ตั้งครรภ์ กลุ่มแท้งบุตร และกลุ่มไม่แท้งบุตร (p = 0.20)

      ซึ่งผลการศึกษานี้ น่าจะช่วยเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมวัยมีประจำเดือน ระยะที่โรคยังไม่มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิต ที่ได้รับการรักษาโรคมะเร็งฯครบถ้วนแล้ว และต้องการมีบุตร

แหล่งข้อมูล:

  1. https://meetinglibrary.asco.org/record/152878/abstract (Abstract) [2018,Feb17]