คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลของการฉายรังสีรักษาในมะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดโดยเก็บเต้านมไว้

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-275

      

      การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมระยะที่1หรือ2 อาจเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบตัดเต้านมทั้งหมดออก(Mastectomy) หรือผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ โดยผ่าออกเฉพาะก้อนมะเร็งที่เรียกว่า Breast conservative surgery/therapy(BCT)ซึ่งกรณีผ่าตัดแบบนี้ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสีรักษา และเนื่องจากปัจจุบันพบว่า มะเร็งเต้านมมีหลายชนิดย่อย แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม จึงต้องการทราบว่า ผลการควบคุมโรคมะเร็งฯจากการให้รังสีรักษาร่วมด้วยจะแตกกันหรือไม่ในมะเร็งเต้านมชนิดต่างๆ จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ที่ได้รายงานในที่ประชุมวิชาการประจำปีของแพทย์โรคมะเร็งสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ ASCO(American Society of Clinical Oncology) ที่จัดขึ้น ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 2-6มิถุนายน ค.ศ. 2017 โดยเป็นการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ประเทศสวีเดน

      การศึกษานี้ ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะที่1,2 ทั้งหมด 1,003 รายที่โรคยังไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ โดยเป็นการศึกษาจากผู้ป่วยในโครงการการศึกษาของสวีเดนที่ชื่อ the Swedish Breast Cancer Group 91 Radiotherapy Trial ซึ่งรวมรวมข้อมูลในช่วงปี 1991-1997 และติดตามผลนานอย่างน้อย 10 ปี

      ผลการศึกษาพบว่า การให้รังสีรักษาร่วมด้วย จะลดโอกาสการย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านมเมื่อติดตามผลการรักษานาน 10 ปีขึ้นไป โดยลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ในผู้ป่วยกลุ่มได้รังสีรักษาร่วมด้วย โรคที่เต้านมจะย้อนคืนมา 6%ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รังสีรักษา โรคจะย้อนคืนมา 20% (p=0.008) โดยผู้ป่วยกลุ่มเซลล์มะเร็งชนิด Luminal A-like tumor จะได้ผลการควบคุมโรคได้ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ชนิดย่อยของมะเร็งเต้านม ไม่สามารถใช้เป็นปัจจัยในการพยากรณ์ได้ว่า มะเร็งเต้านมชนิดไหนจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยรังสีรักษาหรือไม่ เพราะผลการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคในมะเร็งเต้านมชนิดต่างๆที่ได้รับรังสีรักษาไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

แหล่งข้อมูล:

  1. http://meetinglibrary.asco.org/record/145551/abstract [2018,Jan9]