คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ยารักษาเบาหวานกับมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-272

      

      เคยมีการศึกษาในภาพรวมว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยและใช้ยารักษาเบาหวานชนิด Metformin อาจส่งผลในการควบคุมมะเร็งเต้านมได้ดีกว่ากลุ่ม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นเบาหว่านกลุ่มไม่ได้ใช้ยา Metformin แพทย์จึงต้องการศึกษาเพิ่มเติมให้เฉพาะเจาะจงว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มที่มีจีน/ยีน/Geneชนิดที่เรียกว่า Human epidermal growth factor 2 (HER 2)เป็นบวก(HER2+)และเป็นเบาหวาน และยารักษาเบาหวาน Metformin จะส่งผลต่อโรคมะเร็งเต้านมอย่างไร

      การศึกษานี้ เป็นการใช้ข้อมูลการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ The ALTTO (The Adjuvant Lapatinib And/Or Trastuzumab Treatment Optimisation) Study ที่ศึกษาผู้ป่วยฯช่วง ค.ศ. 2007-2011 ทั้งหมด 8,381 ราย ซึ่งเป็นการศึกษาใน Phase III แบบสุ่มตัวอย่างไปข้างหน้าในการใช้ยารักษาตรงเป้า โดยคณะผู้ศึกษาที่นำโดย นพ. Amir Sonnenblick แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง ได้นำข้อมูลมาศึกษาเพิ่มเติม โดยแยกผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นเบาหวาน และมีHER2+ เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่รักษาเบาหวานด้วย Metformin (260 ราย) และกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ Metformin(186ราย) ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการติดตามผลการรักษานาน 0.16-6.31 ปี(มัยฐานที่ 4.5ปี) การศึกษานี้ได้ตีพิม์ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง JCO 2017. 35(13): 14-21(May17,2017)

      ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยฯที่ไม่ได้ Metformin มีผลการรักษามะเร็งเต้านมเลวกว่ากลุ่มที่ได้ยา Metformin ในทุกกรณีอย่างมีนัยทางสถิติ ได้แก่ อัตราการปลอดโรคมะเร็ง/Disease free survival/DFS(P = .043) , อัตราการปลอดโรคมะเร็งแพร่กระจาย/Distant disease free survival/ DDFS (P = .013), และอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งฯ/ Over all survival/OS (P = .004) แต่อย่างไรก็ตามผลการรักษาที่ดี นี้ เป็นเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดมีการจับฮอร์โมนเท่านั้น(Hormone receptor/HR +)

      คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมะเร็งเต้านมกลุ่มที่ได้รับ การรักษาเบาหวานด้วยยา Metformin จะส่งผลดีต่อการควบคุมโรคมะเร็งเต้านมกลุ่มมี HER2+ที่มี HR+

      เนื่องจากการศึกษานี้มีระเบียบวิธีวิจัยที่เชื่อถือได้ ผลการศึกษาจึงน่านำมาปรับใช้ทางคลินิกได้ดี และเป็นที่น่ายินดีของผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้ เพราะยา Metformin มีราคายาไม่แพง ผลข้างเคียงยาน้อย และมีการใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทย

แหล่งข้อมูล:

  1. http://ascopubs.org/doi/abs/10.1200/JCO.2016.69.7722?journalCode=jco [2018,Jan9].