คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฉายรังสีสมองป้องกันมะเร็งปอดแพร่กระจายมาสมอง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-271

      

      มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตระยะที่3 ซึ่งการรักษาคือ การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีก้อนมะเร็งในปอด แต่แพทย์พบว่า ภายหลังการรักษาครบ ผู้ป่วยมักเกิดมีมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่สมอง จนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แพทย์จึงต้องการทราบว่า ภายหลังการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาที่ก้อนมะเร็งในปอด ถ้าให้รังสีรักษาแบบเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคมะเร็งมาที่สมองที่เรียกว่า “พีซีไอ(PCI, Prophylactic cranial radiation)” จะช่วยลดอัตราการแพร่กระจายของมะเร็งปอดกลุ่มนี้สู่สมองลงได้หรือไม่, การรักษาเพิ่มเติมด้วย PCI จะช่วยเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิต(Overall survival time, OS) ของผู้ป่วยหรือไม่, และรวมถึงคุณภาพชีวิต(Quality of life, QOL)ของผู้ป่วยจะดีกว่าการไม่ได้รับPCI หรือไม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้

      การศึกษานี้จากคณะแพทย์ในหลายโรงพยาบาลของประเทศเนเทอร์แลนด์ นำโดย นพ. Harry. J.M. Groen แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย The University Medical Center Groningen เนเทอร์แลนด์ และการศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมใหญ่ประจำปี ค.ศ. 2017(2-6มิถุนายน) ของสมาคมแพทย์โรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา (ASCO, the American Society of Clinical Oncology) ณ เมือง ชิคาโก สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง ในระยะที่3 (Randomized,Phase III)ในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตทั้งหมด 175 ราย ผู้ป่วยถูกสุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม “กลุ่มที่1 เป็นกลุ่มควบคุม จำนวน 88 ราย ได้รับการรักษาเฉพาะยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาที่ก้อนมะเร็งในปอด” และ “กลุ่มที่2 จำนวน 87ราย ได้รับเคมีบำบัดและรังสีรักษาที่ก้อนมะเร็งในปอดร่วมกับการฉายรังสีป้องกันที่สมอง(PCI)” ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นผู้ป่วยช่วงปี ค.ศ. 2009-2015 และได้รับการติดตามผลการรักษามีมัธยฐาน(Median follow up)นาน 48.5 เดือน

      ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มได้PCI มีมะเร็งแพร่กระจายมาสมอง 4.6% ส่วนผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับPCIมีมะเร็งแพร่กระจายมาสมอง 28.4% ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มได้รับ PCIมีอัตราการแพร่กระจายของมะเร็งปอดสู่สมองน้อยกว่าอย่างมีนัยทางสถิติ(p < 0.00001) แต่ผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มมีมัธยฐานระยะรอดชีวิต(Median OS) ไม่ต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติ คือ กลุ่มได้รับ PCI= 24.2 เดือน กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับ PCI=21.9 เดือน (p = 0.52) และคุณภาพชีวิตที่ 3เดือนแรกหลังการได้รับ PCI ของกลุ่มศึกษาที่ได้รับ PCI ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับ PCI อย่างมีนัยทางสถิติ (p = 0.02) แต่หลังจาก 3 เดือนไปแล้วคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มก็ไม่ต่างกันทางสถิติ

       เนื่องจากผลการศึกษา ที่พบว่า การให้ PCI ไม่ได้ช่วยเพิ่มระยะเวลารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตในระยะที่3 การให้ PCIในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จึงจะเลือกใช้เฉพาะผู้ป่วยในกรณีที่แพทย์และผู้ป่วยปรึกษากันแล้วเห็นว่า การได้รับPCI จะได้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการไม่ได้รับPCI

แหล่งข้อมูล:

  1. http://abstracts.asco.org/199/AbstView_199_188194.html [2018,Jan9].