คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนการลดระยะเวลาให้ฮอร์โมนรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-270

      

      การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ผ่าตัดไม่ได้(ระยะลุกลามเฉพาะที่) มักเป็นการฉายรังสีรักษาบริเวณต่อมลูกหมากและบริเวณต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานร่วมกับการให้ยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เรียกว่า ADT(Androgen deprivation therapy)ที่มักให้ยานานถึง 36 เดือน ซึ่งยาในกลุ่ม ADTนี้ อาจมีผลข้างเคียงเช่น เกิดโรคหัวใจ และทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะของเพศหญิงเกิดขึ้น เช่น เสียงเปลี่ยนไป ขน หนวด เครา ลดลง รูปร่าง ผิวพรรณ จะเป็นผู้หญิงมากขึ้น เป็นต้น รวมทั้งเป็นยาที่มีราคาสูง แพทย์จึงต้องการทราบว่า “สามารถที่จะลดระยะเวลาในการให้ ADT ลงได้หรือไม่ และคุณภาพชีวิต(QOL, Quality of life)ของผู้ป่วยจะดีขึ้นจริงหรือไม่” จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้

      โดยเป็นการศึกษาจากคณะแพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยา Centre Hospitalier Regional University ในรัฐควีเบค ประเทศแคนาดา ซึ่งคณะแพทย์นำโดย นพ. Abdennour Nabid แพทย์ด้านอายุรกรรมโรคมะเร็ง และผลการศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมใหญ่ประจำปี ค.ศ. 2017 (2-6 มิถุนายน)ของแพทย์โรคมะเร็ง สหรัฐอเมริการ ที่ชื่อ ASCO(American Society of Clinical Oncology) ที่จัดขึ้นที่เมือง ชิคาโก สหรัฐอเมริกา

      การศึกษานี้ เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง(Randomization) โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มควบคุม ผู้ป่วยจะได้รับรังสีรักษาร่วมกับ ADTนาน 36 เดือน(มีผู้ป่วยทั้งหมด 310 ราย)” และ “กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มศึกษาที่ผู้ป่วยจะได้รับรังสีรักษาร่วมกับ ADT นาน 18 เดือน(ผู้ป่วย 320ราย)” ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มได้รับการติดตามผลการรักษานานที่มัธยฐาน(Median follow up) 9.4 ปี

      ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิต(Overall survival, OS)ที่ 10 ปี ในกลุ่มควบคุม เป็น 62.4% และในกลุ่มศึกษา เป็น 62% ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p = 0.8412) และเมื่อศึกษาถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พบว่า กลุ่มศึกษาที่ลดระยะเวลาการได้รับ ADT(ได้ADT 18 เดือน) มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม(ได้ ADT 36เดือน) อย่างชัดเจน มีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001)

      คณะผู้ศึกษาจึงสรุปผลว่า ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ผ่าตัดไม่ได้ การลดการให้ ADT เป็น 18 เดือน ให้ผลในอัตราการอยู่รอดที่ 10ปี ไม่ต่างจากการให้ ADTนาน 36 เดือน แต่ผู้ป่วยได้ประโยชน์มากกว่าในด้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

      จากการศึกษานี้ ที่มีจำนวนผู้ป่วยที่มากพอ ติดตามผลการรักษาได้นานพอ และยังเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง จึงน่านำผลการศึกษามาปรับใช้ได้ทางคลินิก โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากกลุ่มระยะโรคที่ผ่าตัดไม่ได้ ที่มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา ADTได้สูงและรุนแรง

แหล่งข้อมูล:

  1. http://abstracts.asco.org/199/AbstView_199_186877.html [2017,Nov18].
  2. http://www.cancernetwork.com/asco-prostate-cancer/reducing-adt-18-months-may-be-sufficient-high-risk-prostate-cancer [2017,Nov18].