คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งต่อมน้ำลาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-264

มะเร็งต่อมน้ำลาย เป็นมะเร็งพบได้น้อยทั่วโลกที่รวมถึงในประเทศไทย โดยในประเทศไทยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบโรคนี้ในชายไทย 0.4รายต่อประชากรชายไทย 100,000 คน และ 0.5 รายต่อประชากรหญิงไทย 100,000คน

มะเร็งต่อมน้ำลายมีหลายชนิด ชนิดที่พบได้เรื่อยๆไม่บ่อยนัก คือ ชนิด Adenocystic carcinoma ที่พบได้ประมาณ 15%ของมะเร็งต่อมน้ำลายทั้งหมด และเป็นชนิดที่ยังไม่ค่อยมีการศึกษาถึงอัตราการอยู่รอดของโรคนี้หลังการรักษา

เนื่องจากมะเร็งต่อมน้ำลาย เป็นมะเร็งที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด ทั่วไป การรักษาหลักคือ การผ่าตัด และอาจมีการรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสีรักษา แพทย์ในสหรัฐอเมริกาจึงต้องการศึกษาว่า การฉายรังสีรักษาจะช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำลายชนิดAdenoid cystic carcinoma หรือไม่ และคณะผู้ศึกษาเรื่องนี้ ได้นำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้ในการประชุมใหญ่ประจำปีของแพทย์ทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ The American Radium Society (ARS) เมื่อ 6-9 พฤษภาคม ปีนี้(ครั้งที่ 99) ที่รัฐ Colorado สหรัฐอเมริกา

คณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย พญ. Anna Lee แพทย์รังสีรักษาจาก New York ได้ศึกษาถึงผลของการฉายรังสีรักษาตามหลังการผ่าตัดในมะเร็งต่อมน้ำลายชนิดAdeno cystic carcinoma นี้ โดยการศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งที่เก็บรวบรวมโดย National Cancer Data Base (NCDB) แห่งสหรัฐอเมริกา ในช่วง 2004-2012 พบมีผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ 1,784 คน ค่ามัธยฐาน(Median)ของอายุผู้ป่วยอยู่ที่ 57 ปี และผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์สามารถติดตามผลการรักษาได้โดยมีค่ามัธยฐานที่ 47.5 เดือน

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้ที่ได้รับการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว มีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี 72.5% ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้วตามด้วยการฉายรังสีรักษา มีอัตรารอดที่ 5 ปี 82.4% ซึ่งให้ผลการรักษาดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p น้อยกว่า 0.001) ทั้งนี้แม้แยกเป็นระยะโรค ผลการรักษาที่ใช้รังสีรักษาร่วมด้วยก็ดีกว่าในผู้ป่วยทุกระยะโรคที่รวมถึงโรคในระยะที่1(T1N0)อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังรวมถึงผู้ที่ผ่าตัดแล้วยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่จากการตรวจทางพยาธิวิทยา/Margin +(P=0.001) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัดจะให้ผลที่ดีกว่าการผ่าตัดวิธีการเดียว แต่ผู้ป่วยที่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองแล้ว มักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาได้สรุปว่า การฉายรังสีรักษาหลังการผ่าตัดในมะเร็งต่อมน้ำลายชนิด Adenoid cystic carcinoma ช่วยเพิ่มอัตราอยู่รอดของผู้ป่วยในทุกระยะของโรคมะเร็งชนิดนี้ที่โรคยังไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ

แหล่งข้อมูล:

  1. Khuhaprema, T. et al.(2013).Cancer in Thailand. Volume VII. 2007-2009. Ministry of Public Health. National Cancer Institute
  2. https://www.cancer.org/cancer/salivary-gland-cancer/about/what-is-salivary-gland-cancer.html [2017,Oct21].
  3. http://www.redjournal.org/article/S0360-3016(17)30444-3/fulltext [2017,Oct21].