คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน โรคมะเร็งเด็กกลุ่มมีการพยากรณ์โรคเลวที่สุด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-263

มะเร็งในเด็กเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่ามะเร็งในผู้ใหญ่มาก น้อยกว่าประมาณ 10 เท่า และพบได้ในทุกอายุของเด็ก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาไปจนถึงอายุ 15 ปี ซึ่งบางโรงพยาบาลจะรวมมะเร็งในกลุ่มเยาวชนไว้ในมะเร็งด้วย กล่าวคือจะรวมถึงผู้ที่อายุ19ปี

แพทย์ในสหรัฐอเมริกา ต้องการทราบว่า มะเร็งในเด็กกลุ่มใดที่มีการพยากรณ์โรคเลวที่สุด เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับปรุงวิธีการรักษาเพื่อเพิ่มอัตราอยู่รอดของเด็ก โดยผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่แพทย์ให้นิยามว่ามีการพยากรณ์โรคเลวที่สุด คือผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่เสียชีวิตจากมะเร็งและรวมถึงจากการรักษามะเร็งภายใน 1 เดือนนับจากวินิจฉัยโรคมะเร็งได้

การศึกษาในเรื่องนี้ โดยคณะแพทย์จากโรงพยาบาลเด็ก แห่งมหาวิทยาลัย Colorado สหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Adam L. Green และได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งชื่อ JCO ฉบับเดือนเมษายน 2017

การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากหน่วยงานด้านการเก็บข้อมูลโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หน่วยงานนี้มีชื่อว่า The Surveillance, Epidemiology, and End Results (SEER) Program of the National Cancer Institute ซึ่งเป็นข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 19 ปีในช่วงปี 1992-2011 โดยช่วงเวลานี้มีผู้ป่วยมะเร็งเด็กทั้งหมด 36,337 คน ข้อมูลที่นำมาศึกษา รวมข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและของครอบครัว(Dermographic data) และข้อมูลทางด้านโรคมะเร็งของเด็ก

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญทางสถิติที่มีผลต่อการพยากรณ์โรคที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเด็กเสียชีวิตภายใน1 เดือนนับจากวินิจฉัยโรคได้ คือ ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 1 ปี และเป็นผู้ป่วยจากครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่เข้าถึงการรักษามะเร็งได้ยาก(ในสหรัฐอเมริกา คือ คนผิวดำ และลาตินอเมริกัน) ส่วนโรคมะเร็งที่พบเป็นสาเหตุเสียชีวิตสูงสุดและรองลงมาตามลำดับ คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(AML) มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(ALL) มะเร็งตับชนิด Hepatoblastoma และมะเร็งสมอง

ในความเห็นของผู้เขียน มะเร็งในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีมักมีความรุนแรงสูงเสมอ รวมถึง การรักษาซึ่งแพทย์มักให้การรักษาได้ไม่เต็มที่ ด้วยอันตรายจากการรักษาจะสูงมากจากสภาพร่างกายของเด็กที่อวัยวะต่างๆยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทั้งจากการผ่าตัด การดมยาสลบ ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา การใช้ยาทุกชนิด รวมถึงเด็กยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ บอกเล่าอาการไม่ได้ การดูแลต้องพึ่งพาครอบครัว 100% ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้ยากต่อการดูแลรักษาที่ส่งผลถึงประสิทธิภาพการรักษา

แหล่งข้อมูล:

  1. JCO(2017);35(12): 1320–1327