คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะด้วยการผ่าตัด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-259

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย โดยพบบ่อยเป็นลำดับที่ 8 (บรรณานุกรมที่2) แต่ไม่อยู่ใน10 ลำดับแรกของมะเร็งพบบ่อยในสตรีไทย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีหลายชนิด แต่เกือบทั้งหมดเป็นชนิดที่เรียกว่า Transitional cell carcinoma ที่มักเรียกย่อว่า TCC

มีการศึกษาถึงผลการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดTCC ด้วยการผ่าตัดจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานัครินทร์ โดยเป็นการศึกษาจากคณะศัลยแพทย์ที่นำโดย นพ. ธัญญ์ เพชรานนท์ และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ J Med Assoc Thai เมื่อ มกราคม 2017

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะTCC ทั้งหมด 111รายในช่วงปีพ.ศ.2547-2555 เป็นผู้ป่วยชาย 101 คน ผู้ป่วยสตรี 10 คน ผู้ป่วยทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 65 ปี ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมดร่วมกับการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออก และมีการผ่าตัดทำกระเพาะปัสสาวะเทียมร่วมด้วย

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัดมีอัตรารอดชีวิตจากโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ 5 ปี (5 year cancer specific survival rate) เป็น 36% โดยอัตรารอดชีวิตที่มีนัยสำคัญทางสถิติ จะขึ้นกับ ระยะของโรคมะเร็ง(โรคระยะที่ 1 อัตรารอดชีวิตฯที่ 5 ปี เป็น 89% ระยะที่ 2, 3 และ 4 อัตรารอดชีวิตฯเป็น 32%, 30% และ 11.6% ตามลำดับ) และขึ้นกับการมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ซึ่งกลุ่มมีโรคที่ต่อมน้ำเหลือง อัตรารอดชีวิตฯ จะเป็น 12.9%

จากผลการศึกษานี้ จะเห็นว่า การรักษาด้วยการผ่าตัด จะได้ผลดีในโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะTCC ระยะที่ 1 ส่วนโรคในระยะอื่นๆ ต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมว่า การรักษาต่อเนื่องหลังการผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาจะมีประสิทธิภาพเพิ่มอัตราการอยู่รอดจากมะเร็งชนิดนี้ของผู้ป่วยหรือไม่

แหล่งข้อมูล:

  1. Bjrananda,T. et al. J Med Assoc Thai. 2017;100(1):24-32
  2. Khuhaprema, T. et al. (2013); Cancer in Thailand, Vol Vii, 2007-2009. Ministry of Public Health. NCI.