คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน โภชนากรกับผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้หรือระยะแพร่กระจาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-257

ภาวะขาดอาหารในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือระยะที่โรคมีการแพร่กระจาย เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักตัวผู้ป่วยลดลง ที่รวมถึงคุณภาพชีวิตลดลงด้วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

กลุ่มแพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่นำโดย พญ. นภาวรรณ บุษยามาศ แพทย์ด้านมะเร็งวิทยาจึงได้ทำการศึกษา เพื่อต้องการทราบว่า ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้หรือระยะโรคแพร่กระจาย ถ้าได้รับการดูแลด้านโภชนาการจากโภชนากรตั้งแต่ก่อนได้รับยาเคมีบำบัด(กลุ่มศึกษา)จะส่งผลให้มีน้ำหนักตัวและคุณภาพชีวิตดีกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลทั่วไปที่ไม่ได้รับการดูแลจากโภชนากร(กลุ่มควบคุม)หรือไม่ การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้า(Prospective randomized study) ศึกษาในช่วงธันวาคม 2556-กรกฎาคม 2557 ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มศึกษาและในกลุ่มควบคุมมีกลุ่มละ 25 คน ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการประเมินทางด้านโภชนาการก่อนการให้ยาเคมีบำบัด เมื่อให้นาเคมีบำบัดไปแล้ว 3-4 ครั้ง และ6-8ครั้ง หรือติดตามไปอีก 2 เดือนหลังหยุดยาเคมีบำบัดไปก่อน

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาที่ได้รับการดูแลจากโภชนากร มีน้ำหนักตัว(p=0.03) ดัชนีมวลกาย(p=0.03) และคุณภาพชีวิต(p=0.01) ซึ่งดีกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปผลการศึกษาว่า ในผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มดังกล่าวที่ได้รับยาเคมีบำบัด การได้รับการดูแลจากโภชนากรร่วมด้วย จะช่วยให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะในระยะโรคดังกล่าว เมื่อมีปัญหาทางด้านการบริโภค หรือเกรงว่าจะมีปัญหาด้านการบริโภคระหว่างการรักษามะเร็ง การปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับการดูแลทางด้านโภชนาการจากโภชนากร จึงน่าจะช่วยด้านโภชนาการของผู้ป่วยได้

แหล่งข้อมูล:

  1. J Med Assoc Thai 2016;99(12):1283-1290 [2017,Sept16].