คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ยาลดไขมันกับมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-255

ปัจจุบัน ผู้คนที่ใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก มีโรคไขมันในเลือดสูงเป็นโรคประจำตัวกันเป็นส่วนใหญ่และคนกลุ่มนี้จะได้รับการรักษาด้วยยาลดไขมันในเลือดอย่างต่อเนื่อง และได้มีการศึกษาขนาดเล็กๆรายงานว่า ยาลดไขมันในเลือดสามารถลดโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งเต้านมได้ จากที่ตัวยากลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธ์ที่ส่งผลต่อการทำงานของ Estrogen receptor (ER)ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมกลุ่มที่อาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเจริญเติบโต

นี่จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้ ที่เป็นการร่วมมือกันในระหว่างคณะแพทย์จาก สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ในโครงการศึกษาเฉพาะโรคมะเร็งเต้านมที่เรียกว่า The Breast International Group(BIG)เพื่อให้ได้จำนวนผู้ป่วยจำนวนมากเพียงพอที่จะศึกษาแล้วได้ข้อมูลทางสถิติที่เชื่อถือได้ เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมจะมีลักษณะทางคลินิกที่แบ่งย่อยได้หลายกลุ่มมาก การศึกษาโดยไม่แยกกลุ่มย่อยของผู้ป่วยจะได้ข้อมูลที่อาจคลาดเคลื่อนได้

แพทย์ในกลุ่มBIG ที่นำโดย พญ. Signe Borgquist ได้ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มที่พบได้บ่อยในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะต้นๆของโรค(ระยะที่1,2) เป็นผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน และมีเซลล์มะเร็งเป็นชนิดจับฮอร์โมน/ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเพศ และได้รับยาต้านฮอร์โมนชนิด Tamoxifen และ/หรือ Letrozole ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 5 ปีหลังจากครบการรักษาด้วยการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มศึกษานี้ กลุ่มหนึ่งได้รับการรักษาด้วยยาลดไขมันในเลือดร่วมด้วยกับยาต้านฮอร์โมน แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ยาลดไขมันฯ ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยในปี 1998- 2003 มีผู้ป่วยที่ได้รับยาลดไขมันในเลือดทั้งหมด 697 ราย และไม่ได้รับยาลดไขมันฯ 5247 ราย

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มได้ยาลดไขมันฯร่วมด้วยมีอัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม(Disease free survival) ดีกว่ากลุ่มไม่ได้รับยาลดไขมัน(p=0.01) และมีระยะปลอดจากโรคมะเร็งฯแพร่กระจาย(Distant recurrence free survival)ดีกว่า(p=0.03)ด้วยเช่นกัน

คณะผู้ศึกษาได้สรุปว่า จากการศึกษานี้ ยาลดไขมันฯมีประสิทธิภาพในการช่วยควบคุมโรคมะเร็งเต้านมกลุ่มดังกล่าวได้จริง แต่เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอนทางสถิติ สมควรที่จะทำการศึกษาที่จะให้คำตอบชัดเจนกว่าการศึกษานี้ ที่เป็นการศึกษาแบบล่วงหน้าและสุ่มตัวอย่าง Prospective randomized trials

แหล่งข้อมูล:

  1. http://ascopubs.org/doi/pdf/10.1200/JCO.2016.70.3116 [2017,Aug19].