คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งเต้านมจากยาฮอร์โมน2ตัว

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-254

การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน วิธีรักษาจะขึ้นกับ ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้ป่วยอยู่ในวัยก่อนหมดประจำเดือนหรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน เซลล์มะเร็งป็นชนิดจับฮอร์โมน(เพศหญิง)หรือไม่ ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กหรือโต และเป็นมะเร็งที่เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเป็นมะเร็งหรือไม่

ผู้ป่วยกลุ่มที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็ก ที่จัดเป็นมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน เซลล์มะเร็งเป็นชนิดจับฮอร์โมน และเป็นโรคระยะมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ เป็นผู้ป่วยที่พบได้บ่อยกลุ่มหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยกลุ่มนี้ หลังได้รับการรักษาครบถ้วนด้วยการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาแล้ว แพทย์จะให้การรักษาร่วมด้วยยาต้านฮอร์โมนเพศหญิงกลุ่มที่เรียกว่า AI (Aromatase inhibitor) ซึ่งปัจจุบันที่นิยมใช้คือยาชื่อสามัญว่า ยา Letrozole และยา Anastrozole ซึ่งแพทย์จะให้ยานี้ตัวใดตัวหนึ่งทุกวันต่อเนื่องไป 5 ปี โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาตัวใดก็ได้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

คณะแพทย์ด้านโรคมะเร็งทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปจึงมีความต้องการทราบว่า ยาทั้ง 2 ตัวนี้ให้ผลในการควบคุมโรคมะเร็งเต้านมกลุ่มดังกล่าว และผลข้างเคียงต่างกันอย่างไร จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้ ที่เป็นการศึกษาร่วมกันของคณะแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป นำโดย นพ. I. Smith และการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ ชื่อ JCO เมื่อ เมย 2017

การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง(Randomized trial)เปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มดังกล่าว โดยกลุ่มหนึ่งใช้ยา Letrozole อีกกลุ่ม ใช้ยา Anastrozole การศึกษานี้ศึกษาผู้ป่วยในช่วง ธันวาคม 2005- มีนาคม 2008 และติดตามผลการศึกษา ถึง กุมภาพันธ์ 2015 ผู้ป่วยทุกรายติดตามผลได้นานตั้งแต่ 60 เดือนขึ้นไป(มัธยฐาน 65 เดือน) โดยเป็นผู้ป่วยได้ยา Letrozole, 2061 ราย และได้ยา Anastrozole, 2075 ราย

ผลการศึกษาพบว่า ที่ 5 ปี ยาทั้งสองตัวให้ผลการควบคุมโรค(DFS, Disease free survival)ได้ 84.9%สำหรับยา Letrozole และ82.9% สำหรับยาAnastrozole ซึ่งไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.315) และอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี(5 year overall survival, OS)ของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มก็ไม่ต่างกันทางสถิติ คือ 89.9%สำหรับยา Letrozole และ 89.2%สำหรับยา Anastrozole (p=0.7916)

นอกจากนั้น ผลข้างเคียงต่างๆของยาทั้ง 2 ตัวนี้ก็ไม่ต่างกัน ซึ่งผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง อาการร้อนวูบวาบ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยง่าย และ ซึมเศร้า

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า จากการศึกษานี้ ยาทั้ง 2 ตัว ให้ผลไม่แตกต่างกัน ทั้งในอัตราควบคุมโรค(DFS)ที่ 5 อัตราการรอดชีวิต(OS)ที่ 5 ปี และผลข้างเคียงจากยา

อนึ่ง ยาทั้ง 2 ตัวนี้ มีใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย โดยยา Letrozole เป็นยาที่อยู่ในโครงการบัตรทองด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. http://ascopubs.org/doi/abs/10.1200/JCO.2016.69.2871 ( abstract ) [2017,Aug19].