คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งปอดระยะแพร่กระจายเข้าสมอง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-253

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเราและในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต ซึ่งมะเร็งปอดทุกชนิดมักมีการแพร่กระจายไปยังสมองได้สูง ซึ่งมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตจะแบ่งเป็นชนิดที่ตอบสนองต่อยารักษาตรงเป้าในกลุ่ม TKI (Tyrosine kinase inhibitor) และชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อยา TKI ซึ่งแพทย์จะทราบได้ว่า เป็นมะเร็งปอดชนิดไหนจากการตรวจชิ้นเนื้อของมะเร็งปอดชนิดนั้นๆ

วิธีรักษา มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตที่ตอบสนองต่อ TKI ในโรคระยะที่แพร่กระจายไปสมอง คือ

  • วิธีที่1: ให้ยาTKIกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่เคยได้รับการรักษาด้วยยานี้มาก่อน และจะตามด้วยการฉายรังสีรักษาที่สมองเมื่อโรคไม่ตอบสนองต่อยา TKI โดยรังสีรักษาอาจฉายรังสีเพียงจุดที่เป็นรอยโรคซึ่งเทคนิคนี้เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า SRS(Stereotactic radiosurgery) หรือใช้ฉายรังสีทั้งสมองด้วยเทคนิคทั่วไปที่เรียกว่า WBRT(Whole brain irradiation)
  • วิธีที่2: ให้ SRS ร่วมกับ TKI โดยให้ SRS ก่อน
  • วิธีที่3: ให้ WBRT ร่วมกับ TKI โดยให้ WBRT ก่อน

แพทย์ในสหรัฐอเมริกา จึงต้องการทราบว่า วิธีใดจะให้ผลการรักษาได้ดีที่สุด การศึกษานี้ เป็นการศึกษาผู้ป่วยย้อนหลัง ที่ศึกษาร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลหลายโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคณะแพทย์นำโดย นพ. WJ. Magnuson โดยผลการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ชื่อ JCO เมื่อเดือน เมษายน 2017

การศึกษามี้เริ่มเมื่อ 1มค 2008 ถึง 31 ธค 2014 และติดตามผู้ป่วยได้นาน 13-35 เดือน (มัธยฐาน 22เดือน) โดยมีผู้ป่วยในกลุ่มรักษาด้วยวิธีที่1 TKI แล้วตามด้วยรังสีรักษา มีผู้ป่วย 131 ราย, รักษาด้วยวิธีที่2 ใช้ SRS ร่วมกับTKI โดยเริ่ม SRS ก่อน มีผู้ป่วย 100ราย, และรักษาด้วยวิธีที่3 WBRTร่วมกับ TKI มีผู้ป่วย 120ราย

ผลการศึกษา พบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆเป็นดังนี้ กลุ่มรักษาด้วยวิธีที่1 =25 เดือน, ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีที่2 =46เดือน, และวิธีที่3 =30เดือน ซึ่งทั้งหมดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) สรุปก็คือ การใช้ SRS ร่วมกับ TKI ให้ผลการรักษาดีที่สุด รองลงมาคือ WBRT และ TKI และวิธีที่ได้ผลต่ำที่สุดคือให้ TKIจนโรคเป็นมากขึ้นแล้วจึงให้รังสีรักษาที่สมอง นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยที่จะมีอัตรารอดชีวิตสูงสุดนอกจากวิธีรักษาแล้ว คือผู้ป่วยกลุ่มที่มีโรคแพร่กระจายเฉพาะสมองเพียงอวัยวะเดียว

คณะผู้ศึกษา ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เพื่อให้แน่ชัดในการที่จะนำวิธีรักษาโดย SRS แล้วตามด้วยTKI มาใช้เป็นวิธีรักษามาตรฐานในสหรัฐอเมริกา จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการศึกษาต่อเนื่องด้วยวิธีการทางสถิติที่ให้ผลการศึกษาแม่นยำกว่า ที่เรียกว่า การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม(Randomized control tria, RCT) หรือการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้า (Prospective cohort study)

ทั้งนี้ การรักษาทั้ง 3 วิธี มีแล้วในประเทศไทย แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับ ยา TKI และ SRS ยังสูงมาก และไม่ครอบคลุมสำหรับผู้ป่วยบัตรทอง

แหล่งข้อมูล:

  1. http://ascopubs.org/doi/pdf/10.1200/JCO.2016.69.7144 [2017,Aug19].