คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การใช้ยาฮอร์โมนเสริมในมะเร็งรังไข่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-252

ในการรักษามะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง(มะเร็งทั้ง 2ชนิดนี้มีลักษณะทางคลินิก รวมถึงการรักษาที่เหมือนกัน ทางการแพทย์จึงจัดเป็นมะเร็งกลุ่มเดียวกัน)ชนิดที่พบได้บ่อย คือ ชนิด Serous carcinoma ที่เซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวช้า(Low grade) และเป็นมะเร็งในระยะที่ 2-4 แพทย์ต้องการทราบว่า ภายหลังการรักษาหลักซึ่งคือการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้ง2ข้างออกแล้วร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดกลุ่ม Platinum base chemotherapyจนครบคอร์สของยา หลังจากนั้น การให้ยาฮอร์โมนต่อเนื่อง(Hormonal maintenance therapy, HMT เช่น ยา Tamoxifen, Letrozole, Anastrozole)จะส่งผลอย่างไรต่อผู้ป่วย

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาย้อนหลังจากแผนกมะเร็งวิทยานรีเวช มหาวิทยาลัย Texas MD Anderson Cancer Center ซึ่งหัวหน้าคณะผู้ศึกษาคือ นพ. D.M. Gershenson และได้ตีพิมพ์การศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ The Journal of Clinical Oncology/JCO ประจำเดือนเมษายน 2017

โดยศึกษาผู้ป่วยมะเร็งดังกล่าวที่ได้รับการรักษาในช่วงปี 1981-2013 ที่ผู้ป่วยทุกรายได้รับการติดตามผลการรักษาอย่างน้อยตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปนับจากการรักษาหลักครบแล้ว โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 133 รายไม่ได้รับยาฮอร์โมนต่อเนื่อง กลุ่มที่2, 70 ราย ได้รับยาฮอร์โมนต่อเนื่อง

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มได้รับยาฮอร์โมน มีอัตราควบคุมโรคไม่ให้ลุกลาม (Progression free survival)ได้ยาวนานกว่ากลุ่มไม่ได้รับยาฮอร์โมนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< 0.001) คือ 64.9 เดือนต่อ26.4 เดือน ทั้งนี้กลุ่มได้รับยาฮอร์โมนต่อเนื่องให้ผลการรักษาที่ดีกว่า ที่รวมถึงในผู้ป่วยที่หลังครบการรักษาหลักแล้วยังตรวจพบรอยโรคอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม คือทั้งกลุ่มที่ได้ยาฮฮร์โมนและกลุ่มที่ไม่ได้ยาฮอร์โมนมีอัตราการอยู่รอดโดยรวม (Overall survival, OS)ใกล้เคียงกัน ไม่ต่างกันทางสถิติ คือ 115.7 เดือน ต่อ 102.7 เดือน

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การรักษามะเร็งรังไข่กลุ่มดังกล่าวต่อเนื่องจากการรักษาหลักด้วยยาฮอร์โมน ให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วย แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาย้อนหลังที่อาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่นทางสถิติ จึงน่าที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมที่เป็นการศึกษาแบบล่วงหน้า (Prospective trial)

ถึงแม้การศึกษานี้ จะเป็นการศึกษาย้อนหลัง แต่ผลการรักษาน่าพอใจทีเดียว ร่วมถึงยาฮอร์โมนก็เป็นยาที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย รวมถึงราคายาก็ไม่แพงมากเกินไป และยาหลายตัวยังอยู่ในสิทธิบัตรทองอีกด้วย การรักษาวิธีการนี้ จึงเป็นที่ยอมรับของแพทย์โรคมะเร็งในปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล:

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28221866 [2017,Aug19].