คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ต้องตรวจผล ER และ HER2 ในมะเร็งเต้านมซ้ำใหม่หรือไม่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-247

ในการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน แพทย์จะต้องรู้ว่ามะเร็งเต้านมของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นชนิดมีค่าสารมะเร็ง(Tumor marker)เป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาการรักษาว่าจะได้ประโยชน์จากการใช้ยาฮอร์โมน และยารักษาตรงเป้าหรือไม่ ค่าสารมะเร็งที่สำคัญคือ Estrogen receptor(ER) และ HER 2(Human Epidermal growth factor receptor 2) ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเกือบทุกรายจะได้รับการตรวจค่าดังกล่าวมาแล้วจากโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยด้วยการต่าตัดเต้านม หลังจากนั้นจึงจะส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษายังอีกโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ดังนั้นจึงมีข้อสงสัยว่า ผู้ป่วยเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการตรวจค่าสารมะเร็งเหล่านั้นซ้ำหรือไม่เมื่อค่าจากโรงพยาบาลแรก เป็น ER+, HER2- เพราะค่าทั้ง 2 มีความสำคัญต่อการรักษาต่อเนื่องของผู้ป่วย เพราะการตรวจค่าสารมะเร็งดังกล่าวต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ จากประเทศอังกฤษในการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในโครงการ The Optimal Personalised Treatment of early breast cancer using Multiparameter Analysis trial โดยคณะผู้ศึกษาซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ Pinder SE ได้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด 431 ราย ซึ่งได้รับการตรวจ ค่า ER และ HER2มาแล้ว จากห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลแรกที่รักษา และนำผลชิ้นเนื้อมะเร็งมาตรวจซ้ำหาค่าสารมะเร็งดังกล่าวอีกจากห้องปฏิบัติการกลาง และการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Br J Cancer ซึ่งได้เผยแพร่ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ตเมื่อ 21กุมภาพันธ์ 2017

ผลการศึกษา พบว่า การตรวจซ้ำ ให้ผลไม่ตรงกันกับการตรวจครั้งแรก 1.6%ในกรณีของผล ER และ 3%ในกรณีของผล HER2 โดยมีเพียง 1รายที่ผลต่างกันระหว่างสองห้องปฏิบัติการ ทั้ง ER และ HER2

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปผลการศึกษาว่า น่าจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจซ้ำอีกเมื่อค่าสารมะเร็งจากห้องปกฏิการของโรงพยาบาลแรกให้ค่าตรวจเป็น ER+ และ HER2-, ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในภาพรวมลงได้อย่างมาก

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนว่า ถ้าห้องปฏิบัติการทุกห้องปฏิบัติการมีมาตรฐานในการทำงานในระดับเดียวกันแล้ว การตรวจซ้ำในการตรวจสืบค้นต่างๆในมะเร็งเต้านม ก็ไม่มีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมในการรักษาผู้ป่วยลงได้อย่างมาก

แหล่งข้อมูล:

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28222072 [2017,June15].