คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Sigmoidoscopy)เป็นวิธีการที่ได้ประโยชน์ที่สุด เพราะนอกจากจะตรวจลำไส้ได้โดยตรงแล้ว ถ้าพบติ่งเนื้อผิดปกติต่างๆ แพทย์ยังสามารถให้การรักษาด้วยการตัดออกได้เลยในการตรวจนั้น แต่ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายสูง คิวตรวจยาวนาน และเป็นการตรวจที่มีอันตรายเพราะผลข้างเคียงคือ ภาวะเลือดออกจากแผลตัดชิ้นเนื้อ ลำไส้ทะลุจากตัวกล้องเองหรือจากการตัดชิ้นเนื้อ การติดเชื้อในลำไส้จากการตัดชิ้นเนื้อ และผลข้างเคียงจากยาสลบ รวมถึงยาที่ใช้กิน/สวนเพื่อทำความสะอาดลำไส้ก่อนส่องกล้อง ดังนั้นแพทย์จึงต้องการทราบว่า การส่องกล้องเพียงครั้งเดียวมีประโยชน์หรือไม่ในคนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

การศึกษานี้นำโดย ดร. Wendy Atkin จาก Cancer Screening and Prevention Research Group จาก Imperial College, ลอนดอน อังกฤษ และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสารการแพทย์ Lancet เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2017

การศึกษานี้ ทำในหลายโรงพยาบาลในอังกฤษ ในช่วง ค.ศ.1994-1999 และติดตามผลเป็นเวลานาน 17 ปีเป็นอย่างน้อย โดยศึกษาในประชากรทั้งชายหญิงทั้งหมด 170,432 รายในช่วงอายุ 55-64 ปี ในการนี้ 112, 936 รายอยู่ในกลุ่มไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง(กลุ่มควบคุม) และ 57, 098 รายอยู่ในกลุ่มได้รับการตรวจคัดกรอง ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม การส่องกล้องเพียงครั้งเดียวลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 26% และลดอัตราตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 30% ซึ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P< 0.0001) กับกลุ่มควบคุม

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปผลว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องมีประสิทธิภาพช่วยลดอัตราเกิดและอัตราตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพียงครั้งเดียวก็ตาม

จากการศึกษานี้ อย่างน้อยประชากรทั่วไปในวัย ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป น่าจะมีโอกาสได้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องอย่างน้อย 1 ครั้ง

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(17)30396-3/abstract [2017, July 23].