คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนวิธีรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะรุนแรง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งของชายวัยสูงอายุ ที่มีวิธีการรักษาขึ้นกับระยะโรคมะเร็ง(Staging) และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการบอกความรุนแรงของโรคที่เรียกว่า Gleason score(GS)ซึ่งแบ่งเป็น 10 คะแนน คะแนน 1-6 บอกความรุนแรงโรคต่ำ, คะแนน7 ความรุนแรงโรคปานกลาง, และคะแนน 8-10 บอกถึงโรคมีความรุนแรงสูง ซึ่ง โรคที่มี GS 8-10 คะแนน มีวิธีรักษาได้หลายวิธี คือ ฉายรังสีปริมาณรังสีสูงร่วมกับการใช้ฮฮร์โมนในช่วงระยะสั้นๆ, ฉายรังสีร่วมกับการฝังแร่ร่วมกับการใช้ฮอร์โมนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ, และการผ่าตัดใหญ่ที่ผ่าตัดออกทั้งต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน

การศึกษาครั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของทั้ง 3 วิธีการรักษาว่า วิธีใดจะให้โอกาสอยู่รอดที่ 5 ปี และที่ 10 ปีได้สูงกว่ากัน โดยเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังจากคณะแพทย์ จากมหาวิทยาลัย UCLA สหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Amar Kishan โดยศึกษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจากหลายโรงพยาบาล ที่โรคมีGS 8-10 ในช่วงปี ค.ศ. 2000-2013 ทั้งหมด 487 ราย ได้รับการรักษาโดยการฉายรังสีปริมาณสูงฯ+ฮอร์โมน 230 ราย, ได้รับการฉายรังสีร่วมกับการใส่แร่ฯ 87 ราย, และได้รับการผ่าตัดฯ 170ราย ซึ่งการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ ชื่อ European Urology ซึ่งเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ทเมื่อ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2016

ผลการศึกษาพบว่า อัตรารอด(Overall survival และ Cause specific survival)ของผู้ป่วยที่ 5 ปี และที่10 ปี ของการรักษาทั้ง 3 วิธีไม่แตกต่างกันทางสถิติ

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า วิธีการรักษาทั้ง 3 วิธี ให้ผลการรักษาได้เท่ากัน

ดังนั้นการจะเลือกใช้วิธีใดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากกลุ่มนี้ จึงขึ้นกับ สุขภาพร่างกายผู้ป่วยว่า จะเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีใด รวมไปถึงผู้ป่วยสมัครใจที่จะรับการรักษาด้วยวิธีใด ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะให้คำปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0302283816303980 [2017, July 02].