คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การพยากรณ์โรคในมะเร็งต่อมไทรอยด์หลังการกลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลือง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่พบได้มากที่สุด และเป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคที่ดี คือชนิด Papillary carcinoma แต่มะเร็งชนิดนี้มักมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่คอได้สูง ซึ่งวิธีรักษามะเร็งชนิดนี้คือ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ร่วมกับการตัดเอาต่อมน้ำเหลืองรอบๆต่อมไรอยด์และที่ลำคอที่แพทย์คลำพบขณะผ่าตัดออกไปด้วย และอาจร่วมกับการรักษาโดยกินน้ำแร่รังสีหลังการผ่าตัดที่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

แพทย์จึงอยากทราบว่า เมื่อมีต่อมน้ำเหลืองย้อนกลับเป็นซ้ำหลังการรักษา ผู้ป่วยจะมีการพยากรณ์โรค/มีอัตราการรอดชีวิตเป็นอย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้โรคระยะย้อนกลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลืองรุนแรง ซึ่งโดยทั่วไป กรณีเกิดการย้อนกลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลือง แพทย์อาจใช้วิธีเฝ้าติดตามโรคด้วยการตรวจบริเวณต่อมไทรอยด์และต่อมน้ำเหลืองที่คอเป็นระยะๆ จนกว่าต่อมน้ำเหลืองที่คอจะก่ออาการ ซึ่งการเฝ้าติดตามจะประกอบด้วย การสอบถามอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมไทรอยด์และต่อมน้ำเหลืองลำคอ ร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งของมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดนี้(Thyroglobulin) และการตรวจลำคอด้วยอัลตราซาวด์

ความต้องการทราบดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้ โดยคณะผู้ศึกษาชาวญี่ปุ่น นำโดย ศัลยแพทย์ชื่อ Chisato Tomoda จากโรงพยาบาล Ito, โตเกียว และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ ชื่อ Thyroid เมื่อเดือน ธันวาคม 2016 ซึ่งเป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยโรคมะเร็งดังกล่าวทั้งหมด 83 คน(ชาย 15 คน หญิง 68 คน) อายุช่วง 18-80ปี (มัธยฐาน 50.6 ปี) ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการตรวจติดตามผลเป็นระยะเวลาที่มีค่ามัธยฐาน 7.2 ปี

ผลการศึกษาพบว่า อัตรารอดชีวิตจากโรคนี้(Disease specific survival rate)ของผู้ป่วยที่มีการย้อนกลับเป็นซ้ำของต่อมน้ำเหลืองที่ 10 ปี คือ 84.7% และที่ 15 ปีคือ 72.6% และปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงเมื่อพบมีโรคมะเร็งนี้ย้อนกลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลือง คือ อายุของผู้ป่วยขณะที่วินิจฉัยโรคได้ ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป และอัตราการเจริญเติบโตของต่อมน้ำเหลืองที่คอที่ย้อนกลับเป็นซ้ำ ที่มากกว่า 3 มิลลิเมตรต่อปี(ที่ใช้ 3 มิลลิเมตร เพราะเป็นขนาดที่อัลตราซาวด์จะสามารถตรวจพบได้แต่แรก)ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 มีผลเสียต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ทั้งนี้อัตรรอดชีวิตฯไม่ขึ้นกับ ขนาดก้อนมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ จำนวนต่อมน้ำเหลืองลำคอที่มีโรคลุกลามหลังการผ่าตัดรักษาในครั้งแรก หรือขนาดต่อมน้ำเหลือง เมื่อโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ

คณะผู้ศึกษา สรุปว่า หากอัลตราซาวด์ตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่คอหลังการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary carcinoma และระหว่างการเฝ้าติดตาม ต่อมน้ำเหลืองไม่โตขึ้น และ/หรือโตกว่าเดิมไม่เกิน 3 มิลลิเมตร/ปี จะไม่ส่งผลต่อการพยากรณ์โรคของผู้ป่วย

จากการศึกษานี้ ที่เรานำมาใช้ทางคลินิกได้คือ ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์กลุ่มนี้ ที่ตรวจพบโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลือง ถ้าอายุน้อยกว่า 45 ปี และ/หรือ หลังเฝ้าติดตามโรค ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นไม่เกิน 3 มิลลิเมตร/ปี วิธีรักษา สามารถใช้การเฝ้าติดตามโรคได้ โดยยังไม่จำเป็นต้องให้การรักษาที่อาจก่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยไม่มีผลต่ออัตราอยู่รอดของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาดังกล่าวอาจเป็น การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอ, การฉายรังสีรักษาที่คอ, การกินน้ำแร่รังสี หรือใช้วิธีใดวิธีหนึ่งร่วมกัน 2 วิธี หรือใช้ทั้ง 3 วิธีร่วมกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. http://online.liebertpub.com/doi/pdf/10.1089/thy.2016.0225 [2017, June 25].