คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ควรถามอะไรหมอบ้างเมื่อได้รับ แจ้งว่าเป็นโรคมะเร็ง?

เมื่อทราบว่าเป็นโรคมะเร็งคำถามที่ควรถามแพทย์ผู้ให้การรักษาขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัวต้องการทราบอะไร ทั้งนี้ในการพบแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งในครั้งแรก ผู้ป่วยควรพบแพทย์พร้อมครอบครัวสายตรงเพื่อช่วยกันปรึกษาในเรื่องการรักษา (ควรพบแพทย์ร่วมกันในครั้งเดียว) และทุกคนในครอบครัวควรต้องพูดคุยปรึกษาซึ่งกันและกันให้ทราบถึงปัญหาต่างๆในการดูแลรักษาผู้ป่วย การพบแพทย์ทีละคน อาจก่อปัญหาได้เนื่องจากแพทย์ไม่มีเวลาพอที่จะคุยกับครอบครัวผู้ป่วยทีละคนได้

นอกจากนั้น การมีความรู้พื้นฐานในโรคมะเร็งที่ป่วยเป็น จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถพูดคุยปรึกษากับแพทย์ได้ด้วยความเข้าใจมากขึ้น เร็วขึ้น และสามารถปรึกษาได้ตรงประเด็นกับที่ตนต้องการ

การจดคำถามที่ต้องการทราบ และนำไปถามแพทย์พร้อมกับการจดบันทึกคำตอบของแพทย์ไว้ จะช่วยให้จำได้ว่าได้ถามอะไรไปบ้าง อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ถามได้ครบถ้วนและรวดเร็ว และสามารถนำไปปรึกษากับครอบครัวที่ไม่ได้มาพบแพทย์ได้ (อาจขออนุญาตแพทย์บันทึกเทปการสนทนาก็ได้)

ทั้งนี้ ควรมีคนในครอบครัวที่บรรลุนิติภาวะแล้วร่วมพบแพทย์กับผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยกันปรึกษาแพทย์และจดบันทึกเรื่องราวที่ปรึกษาแพทย์ ก็จะช่วยเพิ่มความเข้าใจในเรื่องโรคได้ดีขึ้น สามารถจดจำเรื่องที่พูดคุยปรึกษากับแพทย์ได้ดีขึ้น และยังนำไปปรึกษากันในครอบครัวได้ครบถ้วน ถูกต้อง ลดปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ป่วย/ครอบครัวผู้ป่วย กับบุคคลากรทางแพทย์ที่เกิดจากการสื่อสารได้เป็นอย่างดี

คำถามที่ควรถามแพทย์ คือ คำถามที่ผู้ป่วยและครอบครัวอยากทราบ ต้องการทราบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • เป็นโรคมะเร็งอะไร เป็นโรคของอวัยวะใด
  • เป็นโรคระยะที่เท่าไร
  • มีโอกาสรักษาหายไหม ประมาณกี่%ที่มีโอกาสหาย
  • มีวิธีรักษาอย่างไร แพทย์แนะนำวิธีใด
  • ควรเริ่มรักษาเมื่อไหร่ รอได้นานเท่าไร
  • มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร
  • ใช้เวลารักษานานเท่าไร
  • ต้องหยุดงาน/หยุดเรียนระหว่างรักษาหรือไม่
  • มีข้อห้ามในการกินอาหาร เครื่องดื่ม ยาอะไรหรือไม่อย่างไร
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณเท่าไร เบิกได้หรือไม่ (เช่น สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ราชการ ประกันชีวิต เป็นต้น)

เมื่อได้ข้อมูลโรคและการรักษา ถ้าผู้ป่วยพร้อม ก็ควรนัดการรักษากับแพทย์เพื่อเริ่มการรักษาได้เลย แต่ถ้ายังไม่พร้อม ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถรอการรักษาได้นานเท่าไร และควรกลับมาปรึกษาครอบครัวและเตรียมตัวเพื่อการรักษาให้ได้อย่างต่อเนื่องตามตารางการรักษาที่แพทย์กำหนด

ปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งหลายราย ที่สามารถมีโอกาสเลือกแพทย์และโรงพยาบาลที่ตนต้องการให้เหมาะสมกับฐานะทางการงาน สังคม และการดำเนินชีวิตของตนและครอบครัวได้ เนื่องจากสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการักษาได้เอง ไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ หลังจากพบแพทย์แล้ว ผู้ป่วยอาจตั้งคำถามดังต่อไปนี้กับตนเองก่อนเริ่มต้นการรักษา ทั้งนี้เพื่อให้สามารถได้รับการรักษาต่อเนื่องได้อย่างเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วย/ครอบครัว เช่น

  • ผู้ป่วยได้ข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจรักษาหรือยัง
  • ผู้ป่วยต้องการถามความเห็นแพทย์ท่านอื่นหรือไม่ (Second opinion)
  • ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ และศรัทธาที่จะให้แพทย์ท่านนี้/โรงพยาบาลนี้ดูแลผู้ป่วยตลอดไปหรือไม่

สรุป ในการรักษาโรคมะเร็ง ไม่ควรเปลี่ยนทีมแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลในระหว่างการรักษา เพราะ โรคมะเร็งบางชนิด หรือบางระยะ แพทย์ต่างทีม ต่างโรงพยาบาล มีวิธีรักษาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเปลี่ยนการรักษากลางคัน อาจทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องได้ ผู้ป่วยและครอบครัวจึงควรตัดสินใจให้แน่นอนก่อนเริ่มการรักษา แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาล ก่อนจะลงมือรักษา สามารถทำได้เสมอโดยไม่มีผลกระทบต่อการรักษา

ในประเทศไทย แพทย์รักษาโรคมะเร็งทุกโรงพยาบาล มีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นเลือกโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยและครอบครัวสะดวกในการมารับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป และผู้ป่วย/ครอบครัวรู้สึกว่าไปกันกับแพทย์ได้ดี พูดคุยกันได้รู้เรื่อง ยกเว้นเป็นการรักษาตามสิทธิ์ทางการรักษา ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ