คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนการผ่าตัดเต้านมอีกข้างเพื่อป้องกันมะเร็งเกิดในข้างนั้น(Contralateral prophylactic mastectomy, CPM):คำแนะนำจากสมาคมศัลยแพทย์ด้านเต้านม สหรัฐอเมริกา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนการผ่าตัดเต้านมอีกข้างเพื่อป้องกันมะเร็งเกิดในข้างนั้น

เมื่อเป็นมะเร็งเต้านมในข้างหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมอีกข้างได้(Contralateral breast cancer)แต่โอกาสเกิดน้อยมาก ซึ่งเคยมีการศึกษาพบว่ากรณีที่เป็นมะเร็งเต้านมทั้งหมด(ทุกระยะโรค) มีรายงานเกิดมะเร็งเต้านม2 ข้างในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วไปที่ไม่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม(คือ ยีน/จีน)ที่เรียกว่า BRCA โดยพบได้เพียง1-2.6%เท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบระยะโรคแล้ว ในโรคระยะที่1,และ2 อัตราเกิดยิ่งน้อยลงไปอีก อีกประการ ปัจจุบัน เมื่อเกิดเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ผู้ป่วยมักมีความกังวล กลัวจะเป็นมะเร็เต้านมในอีกข้าง จึงมีการผ่าตัดเต้านมอีกข้างล่วงหน้า เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งในเต้านมที่เหลือนั้นที่เรียกทางการแพทย์ว่า “Contralateral prophylactic mastectomy ย่อว่า CPM” ต่อมาได้มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการผ่าตัด CPM ในมะเร็งเต้านมระยะที่1และ2 ซึ่งตีพิมพ์ เมื่อ ค.ศ. 2014 ในวารสารการแพทย์สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ JNCI โดยเป็นการศึกษาของคณะศัลยแพทย์จากหลายโรงพยาบาลร่วมกัน ที่นำโดย แพทย์ชื่อ Pamela R. Portschy และผลการศึกษาพบว่า เมื่อใช้การคำนวณทางสถิติ ที่ 20ปี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมดที่ทำCPMมีอัตรารอดจากมะเร็งเต้านม และมีมะเร็งเกิดอีกข้างน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำCPMเพียง 1% ซึ่งก็คือ CPM ไม่มีประโยชน์อย่างที่คิด

ต่อมา สมาคมศัลยแพทย์ด้านเต้านม สหรัฐอเมริกา(American Society of Breast Surgeons ย่อว่า ASBrS) ได้ตีพิมพ์ แถลงการณ์/Consensus statement ที่เป็นของสมาชิกสมาคมทั้งหมด ในวารสารการแพทย์ ชื่อ Ann Surg Oncol ซึ่งตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเตอร์เน็ตเมื่อ 9Sept16 โดยระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มมีความผิดปกติทางพันธุกรรม/ทางยีนโดยเฉพาะกลุ่ม BRCA ในการรักษาไม่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการทำ CPM การรักษาด้วยวิธีการทั่วไปมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว

ในความเห็นของผู้เขียน CPM ในมะเร็งเต้านมทั่วไป นอกจากไม่เพิ่มอัตรารอดจากมะเร็งแล้ว ยังจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาให้สูงขึ้นมาก เสียเวลาในการรักษาเพิ่ม และอาจได้รับผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น การสูญเสียภาพลักษณ์ การสูญเสียความรู้สึกทางเพศกรณีผ่าตัดหัวนมออก แผลติดเชื้อ เป็นต้น

ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีความประสงค์จะรักษามะเร็งเต้านมด้วยการทำCPM ควรต้องปรึกษาศัลยแพทย์ และแพทย์โรคมะเร็งถึง ข้อดี ข้อเสีย แล้วจึงค่อยตัดสินใจ

แหล่งข้อมูล:

  1. https://www.cancer.gov/types/breast/risk-reducing-surgery-fact-sheet [2017, May 21].
  2. http://ascopubs.org/doi/abs/10.1200/jco.2015.61.5427 [2017, May 21].
  3. http://jnci.oxfordjournals.org/content/106/8/dju160.abstract [2017, May 21].
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15900371 [2017, May 21].
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4999472/ [2017, May 21].