คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลของรังสีจากแมมโมแกรม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เป็นที่ทราบกันดีว่า รังสี(เอกซเรย์)ที่นำมาตรวจวินิจฉัยโรค มีผลข้างเคียงที่ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยมากๆ(มีเพียงรายงานผู้ป่วยประปราย เป็นครั้งคราว) แต่ก็อาจทำให้เนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีในปริมาณสูงๆกลายพันธ์ไปเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นการใช้รังสีในการวินิจฉัยโรค แพทย์จึงต้องสั่งตรวจเฉพาะเมื่อมีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจนเท่านั้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้

ปัจจุบันมีการนำรังสีมาใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งจะต้องเป็นการตรวจซ้ำๆต่อเนื่องนานเป็น 10ปี คือ การตรวจภาพรังสีเต้านม/แมมโมแกรม/Mammogram ที่ทั่วไปนิยมตรวจเมื่ออายุ 50ปี แต่ปัจจุบันบางประเทศก็เริ่มตรวจที่อายุ 40 ปี และบางประเทศตรวจทุก 1ปี ไปจนอายุ 70 ปี แต่บางประเทศก็ตรวจทุก 2 ปี แพทย์จึงต้องการทราบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมต่อเนื่อง เป็นสาเหตุเกิดมะเร็งเต้านมได้หรือไม่

การศึกษานี้เป็นการศึกษาตามรูปแบบทางคณิตศาสตร์ที่ย่อมรับในระดับหนึ่งในเรื่องความแม่นยำเพื่อการพยากรณ์อัตราการเกิดมะเร็งเต้านมจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมชนิด Digital mammogram (เพราะการศึกษาในคนโดยตรงไม่สามารถทำได้) การศึกษานี้โดยคณะนักวิทยาศาสตร์นำโดย Dr. Diana l. Miglioretti จาก the Universityof California in Davis สหรัฐอเมริกา การศึกษานี้ตีพิมพ์ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ตในวารสารการแพทย์ The Annals of Internal Medicine เมื่อ มกราคม 2016

ผลการศึกษาพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัย 40-74 ปี มีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ 125 รายต่อการตรวจแมมโมแกรม 1แสนราย และในการนี้ผู้ป่วยมีความเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม16ราย ซึ่งทั้งนี้ปัจจัยการเป็นมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้นในกรณีผู้ป่วยได้รับรังสีที่เต้านมสูงขึ้น ซึ่งคือ ในผู้ป่วยกลุ่ม เริ่มตรวจคัดกรองฯตั้งแต่อายุยังน้อย คือ 40 ปี, ตรวจแมมโมแกรม 1 ครั้งต่อปีมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าการตรวจคัดกรองฯทุก 2 ปี, และในผู้ป่วยที่เต้านมมีขนาดใหญ่ที่ต้องตรวจเต้านมด้วยเทคนิคที่ทำให้เต้านมได้รับรังสีสูงขึ้น

จากข้อมูลดังกล่าว ถึงแม้ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในคนโดยตรง แต่ก็มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ จึงบอกเราให้ทราบว่า การตรวจโรคทุกชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราจึงควรตรวจโรคโดยเฉพาะการตรวจคัดกรองที่ต้องใช้รังสี เช่น แมมโมแกรม เฉพาะเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่สมควรเท่านั้น

บรรณานุกรม

http://annals.org/aim/article/2480762/radiation-induced-breast-cancer-incidence-mortality-from-digital-mammography-screening [2017,Jan 14].