คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน เปรียบเทียบผลข้างเคียงระหว่างการใช้ยาและการตัดอัณฑะในมะเร็งต่อมลูกหมาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นเซลล์ที่ใช้ฮอร์โมนเพศชายในการลุกลามแพร่กระจาย ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะโรคแพร่กระจาย จึงใช้การรักษาด้วยการลดปริมาณฮอร์โมนเพศชายลง ที่เรียกการรักษานี้ว่า Androgen deprivation therapy( ADT) อาจโดยวิธีผ่าตัดอัณฑะออกทั้ง 2 ข้างหรือการให้ยาลดการสร้าง/ต้านฮฮร์โมนเพศชาย ซึ่งการรักษาทั้ง 2 วิธีนั้น ให้ผลในการควบคุมโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจายได้เท่ากัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องการทราบว่า ทั้ง 2 วิธีการมีความแตกต่างกันในผลข้างเคียงอย่างไร

การศึกษานี้ รายงานล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ ปลายธันวาคม 2015ในวารสารการแพทย์ชื่อ JAMA Oncology โดยเป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ นำโดย Maxine Sun จาก Brigham and Women’s Hospital ใน Boston สหรัฐอเมริกา เป็นการศึกษาย้อนหลังที่ใช้ข้อมูลจากแหล่งเก็บข้อมูลทางการแพทย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ชื่อ SEER ทั้งนี้ ยาที่ใช้ลดการสร้างฮอร์โมนเพศชายคือ ยา GnRHa(Gonadotropin relwasing hormone agonist)

การศึกษาเป็นข้อมูลช่วง 1995-2009 มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจายทั้งหมด 3,295ราย อายุตั้งแต่ 66 ปีขึ้นไป โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะขาดฮอร์โมนเพศชายที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ การเกิดกระดูกหัก โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย/หลอดเลือดขาแขน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และ โรคความจำเสื่อม

ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวม ผู้ป่วยที่ได้รับยาลดการสร้างฮอร์โมนฯ มีผลข้างเคียงสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มลดฮอร์โมนโดยการผ่าตัดอัณฑะอย่างมีความสำคัญทางสถิติ p

ดังนั้นผลจากการศึกษานี้ จะช่วยแพทย์ และผู้ป่วย/ครอบครัวผู้ป่วย ในการเลือกวิธีการรักษา ซึ่งการผ่าตัดอัณฑะ มีข้อด้อย คือ เจ็บแผลผ่าตัดแต่การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็กที่ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อยมาก และช่วยตัดปัญหาการขาดการใช้ยา การต้องไปโรงพยาบาลบ่อยเพื่อรับยา หรือใช้ยาไม่สม่ำเสมอ อีกประการคือ ผู้ชายหลายคนรู้สึกถึงการสูญเสียความเป็นชายเมื่อต้องผ่าตัดอัณฑะ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ใช้ยาฯ ยิ่งนานก็จะยิ่งมีลักษณะความเป็นหญิงมากขึ้น จากมีฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายสูงขึ้นที่ไม่ค่อยพบในกรณีตัดอัณฑะ เช่น การมีเต้านม และมีเสียงเล็กลง/แหลมขึ้น เป็นต้น

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26720632 [2016,Jan14].