คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอนหินปูนที่หลอดเลือดในแมมโมแกรมช่วยวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

โรคหลอดเลือดหัวใจในผู้หญิง เป็นโรคมักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแต่พบได้น้อยกว่าในผู้ชาย และมักมีอาการไม่ชัดเจนเหมือนในผู้ชาย อาการมักเป็นอาการเหมือนผู้หญิงทั่วไปในวัยหมดประจำเดือน จึงมักวินิจฉัยได้ยาก และการที่จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติมทางด้านหัวใจ เป็นการตรวจที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูงเกินจะใช้เป็นการตรวจคัดกรองหาโรคนี้ในผู้หญิงทุกคนได้

ในการประชุมทางวิชาการประจำปี 2016 ของสมาคมทางด้านโรคหัวใจ ทีชื่อ American College of Cardiology ที่จัดขึ้นที่นคร Chicago สหรัฐอเมริกา เมื่อ 2-4 เมษายน 2016 ได้มีการนำเสนอการศึกษาถึงการตรวจที่เป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่า ผู้หญิงรายใดน่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่สมควรได้รับการตรวจสืบค้นทางด้านโรคหัวใจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

คณะแพทย์ผู้ศึกษาเรื่องนี้ นำโดย นพ.Harvey Hecht และคณะ จาก โรงพยาบาลMount Sinai St. Luke,s Hospital นครนิวยอร์ค โดยคณะแพทย์ได้ทำการศึกษาจาก ภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเทคนิคที่เรียกว่า ดิจิตัล แมมโมแกรม(Digital mammogram) ซึ่งมีให้การตรวจแพร่หลายในประเทศไทยเช่นกัน

Digital mammogram เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่นิยมแพร่หลาย รวมถึงในประเทศไทย ที่มักตรวจกันในผู้หญิง อายุ ตั้งแต่ 45-50 ปีขึ้นไป โดยตรวจด้วยความถี่ทุก 1-2 ปี ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าว พบว่า ในหญิงที่ภาพแมมโมแกรมพบมีการเกิดหินปูนจับเกาะที่ผนังหลอดเลือดแดง จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดหัวใจถึง 70% โดยเฉพาะถ้าหญิงนั้น มีหินปูนจับที่ผนังหลอดเลือดมาก และ/หรือ มีโรคความดันโลหิตสูง และ/หรือมีไขมันในเลือดสูง ร่วมด้วย

ผลการศึกษานี้ ได้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงการแพทย์ด้านโรคหัวใจ ว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการช่วยการตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้หญิง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากไปกว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมที่ต้องทำอยู่แล้วเป็นประจำ ทั้งนี้รวมถึงช่วยลดผลข้างเคียงจากความเครียด จากการถูกตรวจสืบค้นทางด้านโรคหัวใจ ที่อาจไม่จำเป็นในหญิงที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

บรรณานุกรม

1. http://www.medscape.com/viewarticle/861029 [2016,Dec17].