คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน อุบัติการณ์มะเร็งเต้านมในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งในวัยเด็ก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การศึกษาทางคลินิกหลายการศึกษาพบว่า การใช้รังสีรักษาร่วมรักษามะเร็งในเด็กผู้หญิงที่เป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ เมื่อเป็นการฉายรังสีรักษาในส่วนหน้าอก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในเด็กเหล่านั้นเมื่อหายจากโรคมะเร็งในเด็กและได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงเป็นสาเหตุให้ในปัจจุบัน แพทย์พยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ฉายรังสีรักษาผ่านบริเวณหน้าอกของเด็กหญิง โดยหันไปปรับปรุงใช้สูตรยาเคมีบำบัดชนิดต่างๆร่วมกันแทน ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รังสีรักษา(เช่น ผู้ป่วยดื้อต่อยาเคมีบำบัด)แต่ก็จะเป็นการใช้รังสีรักษาในปริมาณที่ต่ำกว่าในอดีตมาก

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ว่า กรณีโรคมะเร็งเด็กที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพียงวิธีการเดียวโดยไม่มีการฉายรังสีรักษาบริเวณหน้าอก ผู้ป่วยเด็กที่รอดชีวิต มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่หรือไม่

การศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Journal of Clinical Oncology ฉบับประจำเดือนมีนาคม ค.ศ 2016 โดยเป็นการศึกษาร่วมกันของคณะแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆในสหรัฐอเมริกา นำโดย Tara O Henderson จากมหาวิทยาลัย Chicago Comer Children’s Hospital เป็นการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดของเด็กหญิงทั้งหมด 3,768ราย ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพียงวิธีการเดียว(ไม่ได้รับรังสีรักษา) และมีชีวิตรอดได้ในช่วง 8-39 ปี มัธยฐานMedian=25ปี

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้เกิดเป็นมะเร็งเต้านมพบได้ในช่วง 10-34ปีหลังการรักษา (มัธยฐาน=24 ปี) โดยอายุที่เกิดมะเร็งเต้านมอยู่ในช่วง 22-47ปี (มัธยฐาน คือ อายุ 38 ปี) ทั้งนี้พบกลุ่มผู้ถูกศึกษาเป็นมะเร็งเต้านมทั้งหมด 47รายจากผู้ป่วยทั้งหมด 3,768ราย โดยเมื่อติดตามผู้ป่วยจนถึงอายุ 45ปี พบเป็นมะเร็งเต้านม 5.8 %ในเด็กหญิงที่เป็นมะเร็งชนิดซาร์โคมา และ 6.3%ในเด็กหญิงที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งอัตราการเกิดโรคมะเร็งสูงกว่าในคนปกติทั่วไปคิดเป็น 4 เท่าและมีโอกาสเกิดได้ในอายุน้อยกว่าในคนทั่วไป คือ ตั้งแต่อายุช่วง 20-30ปี ทั้งนี้ไม่พบมะเร็งเต้านมในเด็กหญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆที่นอกเหนือจากมะเร็งซาร์โคมาและมะเร็งเม็ดเลือดขาว

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า ในผู้ป่วยมะเร็งเด็ก ไม่ใช่การฉายรังสีรักษาบริเวณหน้าอกเพียงวิธีเดียว การใช้ยาเคมีบำบัดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่รอดชีวิตและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเคยป่วยเป็นมะเร็งชนิดซาร์โคมา หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และคณะผู้ศึกษา เชื่อว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยกลุ่มนี้ น่ามีปัจจัยเสี่ยงจาก

  • ชนิดของยาเคมมีบำบัด คือยาเคมีบำบัดในกลุ่มที่เรียกว่า Alkylating agent และ Anthracycline โดยเฉพาะเมื่อเป็นการใช้ยาในขนาดยาที่สูง และ
  • จากพันธุกรรมที่ผิดปกติที่ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เป็นมะเร็งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยวิธีรักษามะเร็งทั้ง รังสีรักษาและยาเคมีบำบัดเป็นตัวประกอบที่ช่วยเพิ่มปัจจัยเสี่ยง

ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษานี้คือ แพทย์จะได้ศึกษาหาสูตรยาเคมีบำบัดใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาเคมีบำบัดทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นตัวยาสำคัญมากในการรักษามะเร็งนั้นๆ ก็จะเลือกใช้สูตรตำรับยาที่ใช้ยาทั้ง2 กลุ่มในขนาดต่ำ

นอกจากนั้น ผู้ป่วยมะเร็งเด็กหญิงทุกคนที่รอดชีวิต ควรเอาใจใส่ดูแลเต้านมของตนเอง โดยการปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น 20 ปี หรือตามแพทย์แนะนำ

อนึ่ง มะเร็งเต้านมที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเมื่อเป็นเด็ก จะมีธรรมชาติของโรค ระยะโรค วิธีรักษา และการพยากรณ์โรคเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมในหญิงทั่วไป

บรรณานุกรม

1. http://jco.ascopubs.org/content/34/9/910.abstract [2016,Nov19].