คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน การศึกษาใช้สารภูมิคุ้มกันรักษามะเร็งสมอง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งสมองชนิดไกลโอมา/Malignant Glioma เป็นมะเร็งที่อันตรายสูง การรักษาในปัจจุบัน คือการผ่าตัดและตามด้วยรังสีรักษา ในบางชนิดอาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย แต่ผลการรักษาก็ยังไม่น่าพอใจ ผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้เพียงประมาณ 1-2 ปี โรคก็ย้อนกลับเป็นซ้ำอีก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า การผ่าตัดสมองเป็นเรื่องอันตรายต่อเนื้อสมอง ยากที่จะตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด การให้รังสีรักษาก็ถูกจำกัดด้วยรังสีที่อาจก่อผลข้างเคียงต่อเนื้อสมองส่วนปกติ และยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็ไม่สามารถซึมเข้าถึงเนื้อสมองได้ ทำให้เซลล์มะเร็งสมองมักดื้อต่อยาเคมีบำบัด แพทย์และนักวิทยาศ่าสตร์จึงพยายามศึกษาหาวิธีการรักษาอื่น เช่น การใช้สารภูมิต้านทาน(Immunotherapy)เพื่อการรักษามะเร็งสมองชนิดนี้

การศึกษานี้นำโดย นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Abhishek D Garg แห่งมหาวิทยาลัย KU Leuven ประเทศเบลเยียม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อ Science Translational Medicine volume 8,2016

การศึกษานี้เป็นการศึกษาในหนูทดลอง โดยทำให้หนูเกิดมะเร็งสมองชนิดไกลโอมา หลังจากนั้น นำเซลล์มะเร็งสมองหนูที่เป็นเซลล์ที่ตายแล้วมาทำปฏิกิริยากับเซลล์สมองหนูที่ปกติที่สามารถสร้างสารก่อภูมิต้านทานได้ที่เรียกว่า Dendritic cells ก็จะได้เป็นวัคซีน ที่ใช้ฉีดกลับเข้าไปในหนู หนูก็จะสร้างสารภูมิต้านทานต่อเซลล์มะเร็งสมองไกลโอมา ซึ่งเมื่อให้การรักษาวิธีการนี้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดชนิดที่เข้าถึงเซลล์มะเร็งได้ คือ ยาTemozolomide ผลปรากฏว่า 50%ของหนูที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ หายขาดจากมะเร็งสมองไกลโอมา

การศึกษานี้ เป็นความหวังที่จะนำมาพัฒนาให้เป็นวิธีการรักษามะเร็งสมองไกลโอมาในคน แต่คงอีกนาน เพราะต้องผ่านขึ้นตอนการศึกษาในคนที่ป่วยด้วยมะเร็งสมองไกลโอมาก่อนว่า จะได้รับผลการรักษาที่ดีเช่นเดียวกับในหนูทดลองหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่เป็นความหวัง ไม่ใช่ความฝัน

บรรณานุกรม

1. https://www.sciencedaily.com/releases/2016/03/160302181728.htm [2016,Oct15].

2. http://stm.sciencemag.org/content/8/328/328ra27 [2016,Oct15].