คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน การฉายรังสีคอร์สสั้นในมะเร็งลำไส้ใหญ่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เมื่อโรคเกิดบริเวณลำไส้ตรงจะเรียกได้อีกชื่อว่า มะเร็งลำไส้ตรง(Rectal cancer) ซึ่งโดยทั่วไปการรักษามะเร็งชนิดนี้ในระยะที 2-3 จะใช้การรักษาร่วมกัน 3 วิธีคือ การให้ยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา หลังจากนั้นจึงตามด้วยการผ่าตัด ซึ่งการฉายรังสีรักษาวิธีมาตรฐานนี้ จะฉายรังสีทั้งหมดประมาณ 28 ครั้งใช้ระยะเวลารักษาทั้งหมดประมาณ 5.5-6 สัปดาห์ (ฉายรังสีวันละครั้ง ใช้รังสีครั้งละ 1.8หน่วย/Gy 5 วันติดต่อกันใน 1สัปดาห์ โดยพัก 2 วัน) ปริมาณรังสีสะสมทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับคือ 50.4 Gy และการผ่าตัดจะประมาณ 6 สัปดาห์หลังครบทั้งรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดแล้ว

การฉายรังสีรักษาที่ใช้ระยะเวลานานถึงประมาณ 6 สัปดาห์ จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น ที่รวมถึงค่าเดินทาง และการหยุดงาน จึงมักมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นกลุ่มแพทย์ผู้รักษามะเร็งจึงพยายามศึกษาหาคอร์ส(Course)การฉายรังสีวิธีใหม่ที่สั้นลง แต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาควบคุมโรค เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายกับผู้ป่วย จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้

การศึกษานี้โดยคณะแพทย์จากโรงพยาบาล Maria Sklodowska-Curie Memorial Cancer Center and Institute of Oncology ในเมือง Warsaw ประเทศ โปแลนด์ นำโดย นพ. Lucjan Wyrwicz ซึ่งได้รายงานผลการศึกษาในที่ประชุมของแพทย์ด้านโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Cancer Symposium) ที่จัดขึ้นที่ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ 21-23 มกราคม ค.ศ. 2016 ตีพิมพ์ในอินเทอร์เน็ตเมื่อ 27 มกราคม 2016

การศึกษานี้เปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่/มะเร็งลำไส้ตรง 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม 254ราย ที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานดังกล่าวในตอนต้น และกลุ่มศึกษา 261 ราย ที่จะได้รับรังสีรักษาเพียง 5 ครั้งติดต่อกันโดยแต่ละครั้งจะได้รังสี 5 Gy รวมรังสีสะสมทั้งหมด 25 Gy

ผลการศึกษาพบว่า

  • ในกลุ่มควบคุม เกิดผลข้างเคียงในระหว่างการรักษาที่เรียกว่า ผลข้างเคียงเฉียบพลัน 83% และเกิด 74%ในกลุ่มศึกษา ซึ่งต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ (p = 0.007)
  • แพทย์สามารถผ่าตัดมะเร็งได้หมด(R0)ในกลุ่มควบคุมเท่ากับ77% กลุ่มศึกษาเท่ากับ 71% ซึ่งไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ (p = 0.081)
  • อัตรารอดที่3ปีของกลุ่มควบคุมคือ 64.5% และกลุ่มศึกษาคือ73% ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ (p = 0.055)
  • อัตราโรคย้อนกลับเป็นซ้ำในกลุ่มควบคุม คือ 21% กลุ่มศึกษา คือ 22% ซึ่งไม่ต่างกันทางสถิติ (p = 0.82)

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การให้รังสีรักษาในระยะเวลาสั้น ที่เรียกว่า Short course radiotherapy มีประสิทธิภาพทางการรักษาเท่าเทียมกับการให้รังสีรักษาเทคนิคมาตรฐาน และน่าจะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพกว่า เมื่อนำเรื่องค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตมาร่วมประเมินด้วย

จากการศึกษานี้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่แพทย์รังสีรักษาอาจนำมาปรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ตรง ระยะที่ 2-3 แต่ทั้งนี้ แพทย์รังสีรักษาหลายท่านก็ยังกังวลอยู่ว่า ผู้ป่วยที่นำมาศึกษายังมีจำนวนน้อยอยู่ และการติดตามผลการรักษายังจัดว่าสั้นมาก คือ ประมาณ 3 ปี จึงทำให้ยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียงระยะยาวว่าจะแตกต่างกันหรือไม่ และแตกต่างกันอย่างไร ดังนั้นจึงสมควรจะรอให้ได้ข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัด ก่อนจะนำมาปรับใช้แบบเป็นมาตรฐานในผู้ป่วย แต่อาจเลือกใช้เฉพาะผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

ดังนั้น ในขณะนี้ การปรับใช้เทคนิคนี้ จึงควรขึ้นกับดุลพินิจของรังสีรักษาแพทย์ จะเป็นการเหมาะสมกว่า

บรรณานุกรม

http://meetinglibrary.asco.org/content/159903-173 [2016,Oct15].