คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน การตั้งครรภ์ในมะเร็งผิวหนัง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยหญิงโรคมะเร็งเกือบทั้งหมดจะพบเป็นมะเร็งในวัยหลังวัยเจริญพันธ์ คือวัยหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพราะมะเร็งส่วนใหญ่จะพบเกิดในวัยกลางคนไปแล้ว ดังนั้นจึงพบมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ได้น้อย แต่มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ที่เป็นมะเร็งพบได้บ่อยในหญิงผิวขาว พบเกิดได้ในวัยเจริญพันธ์ จึงพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้เกิดในหญิงตั้งครรภ์ถึงแม้จะไม่บ่อยนักก็ตาม จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่แพทย์ต้องการทราบว่า การตั้งครรภ์ส่งผลต่อมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาอย่างไร ต่างกับกรณีที่เกิดในหญิงทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์หรือไม่

การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Brian Gastman จาก Cleveland Clinic และตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ 21 มกราคม 2016 ในวารสารการแพทย์ชื่อ Journal of the American Academy of Dermatology โดยเป็นการศึกษาในผู้ป่วยหญิงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาทั้งหมด 462 รายที่รักษาในช่วงปี 1988-2012 ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีอายุน้อยกว่า หรือเท่ากับ 49 ปี มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 34.7 ปี และการศึกษานี้ติดตามผู้ป่วยได้นานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีนับจากวินิจฉัยโรคได้

ผลการศึกษาพบว่า ในจำนวนผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มีทั้งหมด 41 ราย ผลการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาในหญิงตั้งครรภ์เลวกว่าในหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ โอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำสูงกว่า 9 เท่า(p<0.001), มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆสูงกว่า 7 เท่า (p<0.03), และมีอัตราเสียชีวิตจากตัวโรคมะเร็งเองสูงกว่า 5 เท่า (p<0.06)

คณะผู้ศึกษา สรุปผลการศึกษาว่า ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ ควรหมั่นดูแลผิวหนังของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ร่วมกับการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมานี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา จะพบเกิดได้น้อยในประเทศเรา แต่การคอยสังเกตุความผิดปกติของผิวหนัง เพื่อลดโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ร่วมกับการเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ทั้งนี้แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ 2 เรื่องคือ เรื่องมะเร็งผิวหนัง และเรื่อง มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26769566 [2016,Sept17].