คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยรอผ่าตัดเปลี่ยนไต

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบันมีผู้ป่วยชายไตวายเรื้อรังที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่เป็นจำนวนมากขึ้น แพทย์ในสหรัฐอเมริกา จึงต้องการทราบว่าผู้ป่วยชายเหล่านี้ สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ เพราะในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยชายด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกสูงมากประมาณ 1ใน 7ของชายสหรัฐอเมริกา

การศึกษานี้ตีพิมพ์ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ตเมื่อ ธันวาคม 2015 ในวารสารการแพทย์ชื่อ Journal of the American Society of Nephrology โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากคณะแพทย์นำโดย นพ. Gerado. A. Vitielio จาก มหาวิทยาลัย Emory University in Atlanta สหรัฐอเมริกา โดยศึกษาในผู้ป่วยชายทั้งหมด 3,782 ราย อายุ มากกว่า/เท่ากับ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยไตวายและรอการผ่าตัดเปลี่ยนไต การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำโดยการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่มีชื่อว่า PSA(Prostatic specific antigen) ซึ่งค่าที่จะวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก คือค่า PSA สูงมากกว่า 4 ng/ ml ผู้ป่วยฯที่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากมีทั้งหมด 63.6%ของผู้ป่วยรอผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ และในผู้ป่วยกลุ่มนี้ 31.7% ได้รับการปลูกถ่ายไต/ผ่าตัดเปลี่ยนไต

ผลการศึกษาพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในกลุ่มผู้ป่วยรอผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่นี้ ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ตรวจพบเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมีอัตรารอดชีวิตได้สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอดชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งฯ (p=0.24) นอกจากนั้น การศึกษายังพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งฯเป็นสาเหตุให้เกิดการล่าช้าในการได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และยังพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งฯเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยพลาดการผ่าตัดเปลี่ยนไตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองมะเร็งฯ (p<0.001)

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมน้ำลูกหมากในผู้ป่วยรอการผ่าตัดเปลี่ยนไต ไม่มีประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มอัตราอยู่รอดของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีผลให้เกิดการล่าช้าในการรับการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ด้วย

จากการศึกษานี้ ที่เราได้ประโยชน์ คือ ในผู้ป่วยรอการผ่าตัดเปลี่ยนไต การจะตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้ง แพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย ควร ปรึกษากันถึง ข้อดี ข้อเสีย ข้อบ่งชี้การตรวจอย่างชัดเจน ก่อนที่จะตัดสินใจตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26720728 [2016,Aug20].

2. http://www.cancer.org/cancer/prostatecancer/detailedguide/prostate-cancer-key-statistics [2016,Aug20].