คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ระยะเวลาเริ่มรักษามีผลต่ออัตราอยู่รอดของผู้ป่วยมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลการรักษามะเร็งจะขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งเป็นสำคัญ แต่ในมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ เป็นมะเร็งที่ผู้ป่วยมักไม่ค่อยยอมรับการรักษา นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาช่องปากและฟันให้ดีก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้องถอนฟันในระหว่างรักษาโดยเฉพาะการรักษาด้วยรังสีรักษา ดังนั้นเพื่อการวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ และระหว่างแพทย์ที่ร่วมกันรักษาผู้ป่วยมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ (เพราะมะเร็งชนิดนี้จะมีแพทย์หลายสาขาที่ต้องให้การรักษาผู้ป่วยร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การรักษาเริ่มได้ล่าช้า เช่น ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ รังสีรักษาแพทย์ และแพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง) แพทย์ที่ร่วมกันรักษามะเร็งระบบศีรษะและลำคอ จึงต้องการทราบว่า ช่วงระยะเวลาหลังจากวินิจฉัยโรคได้จนถึงวันที่ได้รับการรักษาโรงมะเร็งกลุ่มนี้ จะมีผลต่ออัตราอยู่รอด/Survival time/ผลต่อการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอหรือไม่ อย่างไร

การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์นำโดย นพ. Colin T. Murphy จากศูนย์มะเร็ง Fox Chase (Fox Chase Cancer Center) ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา และตีพิมพ์ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ต เมื่อ ธันวาคม ค.ศ. 2015 ในวารสารการแพทย์ The Journal of Clinical Oncology

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง โดยใช้ข้อมูลจาก National Cancer Data Base (NCDB) ของสหรัฐอเมริกา โดยศึกษาจากผู้ป่วยมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ(มะเร็งลิ้น มะเร็งคอหอยส่วนปาก มะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งคอหอยส่วนที่เรียกว่า Hypopharynxทั้งหมด 51,655 ราย)

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เริ่มรักษามะเร็งหลัง 52 วันนับจากการวินิจฉัยโรคได้ มีแนวโน้มที่จะรอดชีวิตจากโรคมะเร็งต่ำกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภายใน 52 วัน และโอกาสรอดชีวิตจากโรคมะเร็งจะต่ำมากขึ้นอีกหากได้รับการรักษาล่าช้าเกิน 60 วันนับจากวินิจฉัยโรคได้ โดยความแตกต่างในอัตรารอดชีวิต จากมะเร็งในทุกระดับช่วงเวลาเหล่านี้ มีความแตกต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p<0.001)

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษานี้คือ เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้แพทย์ ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย ตระหนักถึงการร่วมมือกัน เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอได้รับการรักษามะเร็งโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยควรเป็นภายใน 60วัน/2 เดือนนับจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ควรต้องครอบคลุมไปถึงแพทย์ทุกสาขาที่ร่วมกันรักษาผู้ป่วย รวมถึงกระบวนการต่างๆในการส่งต่อผู้ป่วยในระหว่างแต่ละโรงพยาบาลก็ควรต้องมีระบบที่ดีและรวดเร็ว เพื่อให้ขั้นตอนทุกอย่างช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษามะเร็งศีรษะและลำคอภายใน 60 วันหลังการวินิจฉัยโรคมะเร็งได้

บรรณานุกรม

http://jco.ascopubs.org/content/early/2015/11/30/JCO.2015.61.5906.abstract [2016,Aug20].