คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สูบบุหรี่มือสองในวัยเด็กเพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับมะเร็งโดยตรง แต่บุหรี่ ทั้งจากการสูบบุหรี่เอง/สูบบุหรี่มือหนึ่ง หรือการสูบบุหรี่มือสอง/การได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นสูบ ก็เป็นตัวการสำคัญในการเกิดมะเร็งปอดและมะเร็งในเนื้อเยื่อส่วนศีรษะและลำคอ โดยเฉพาะมะเร็งคอหอย และมะเร็งกล่องเสียง การรณรงค์ให้ตระหนักรู้ถึงภัยของบุหรี่มักเน้นไปที่ตัวผู้สูบบุหรี่เอง แต่ในวงการแพทย์ยอมรับกันดีว่า ผู้สูบบุหรี่มือสองเองก็ได้รับพิษภัยจากบุหรี่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้สูบบุหรี่เอง และหลายรายงานพบว่า พิษมากกว่าบุหรื่มือหนึ่งด้วยซ้ำไป เพราะผู้สูบบุหรี่มือหนึ่งยังพ่นควันบุหรี่ออกมาบ้าง แต่บุหรี่มือสองสูดควันบุหรี่เข้าร่างกายไปเต็มที่ทีเดียว

นอกจากการเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งแล้ว ควันบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ แพทย์จึงต้องการศึกษาว่า ผู้สูบบุหรี่มือสองในวัยเด็ก หรือ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งการได้รับควันบุหรี่มักได้รับจากคนในครอบครัว มีผลต่อการเกิดโรคหัวใอย่างไร การศึกษาครั้งนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Heart Rhythm และเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ 2 กันยายน ค.ศ. 2015 โดยเป็นการศึกษาจาก นพ. Gregory Marcus และคณะ จากหน่วยโรคหัวใจ University of California สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เป็นการศึกษาโดยการเฝ้าติดตามผล(Longitudinal cohort study) ในผู้ศึกษาทั้งหมด 4,976 รายที่สูบบุหรี่มือสองตั้งแต่วัยเด็กหรือเมื่ออยู่ในครรภ์มารดา ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับบุหรี่มือสองตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา(บิดา และ/หรือมารดาสูบบุหรี่) เป็นโรคหัวใจชนิดห้องบนเต้นผิดปกติ(Atrial fibrillation) สูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูบบุหรี่ 37% และผู้สูบบุหรี่มือสองตั้งแต่วัยเด็ก เป็นโรคหัวใจชนิดนี้สูงกว่าคนทั่วไปฯ 40%

คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า การศึกษาไม่สามารถระบุได้ว่า การสูบบุหรี่มือสองตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือในวัยเด็กเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจชนิดนี้ เป็นแต่เพียง พอบอกได้ว่า บุหรี่มือสอง น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งต้องการการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยในจำนวนมากกว่านี้ ที่จะทำให้การศึกษามีความแม่นยำทางสถิติมากขึ้น กระนั้นก็ตาม ผลการศึกษานี้ ก็ควรทำให้ทุกคนตระหนักถึงพิษของบุหรี่มือสองต่อทารกในครรภ์และต่อเด็ก และควรจะต้องระมัดระวังการสูบบุหรี่มือสองอย่างจริงจัง ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงผลของการศึกษาครั้งใหม่ที่ต้องใช้เวลาการศึกษานานเป็นหลายปีทีเดียว

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26340844 [2016,March18].