คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน แคลเซียมเสริมอาหาร(Calcium supplement) ตอนที่2 (ตอนจบ)

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

คุยกันต่อจากัปดาห์ที่แล้ว ในเรื่องของแคลเซียมเสริมอาหารตอนที่ 1 ที่เป็นคำแนะนำถึงปริมาณแคลเซียมทั้งหมดต่อวันที่ร่างกายควรได้รับ และปริมาณสูงสุดที่ไม่ควรเกินต่อวันในผู้ใหญ่ จากสถาบัน IOM (Institute of Medicine) ของสหรัฐอเมริกา สัปดาห์นี้ เป็นตอนที่2 ที่เป็นตอนจบของเรื่องนี้

อาหารที่มีแคลเซียมสูง

อาหารต่างๆโดยทั่วไปจะมีแคลเซียมต่ำ แต่อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม และอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ของนม (เช่น โยเกิร์ต เนย) ผักใบเขียวเข้ม ปลาซาร์ดีน ปลาซาลมอนสีชมพู และอาหารต่างๆที่เสริมอาหารด้วยแคลเซียม ทั้งนี้ปริมาณแคลเซียมของอาหารแต่ละประเภท ดูได้จากข้างกล่อง/บรรจุภัณฑ์ที่แสดงรายการคุณภาพและส่วนผสมของอาหาร

ผลข้างเคียงของแคลเซียม

ผลข้างเคียงจากการกินแคลเซียม พบได้ในบางคน คือ คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก แต่ถ้าได้ปริมาณแคลเซียมสูงเกินไปต่อเนื่อง ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ อาจก่อให้เกิด นิ่วในไต

ส่วนผลของแคลเซียม ต่อการเกิด โรคมะเร็ง และ/หรือ โรคหัวใจ ยังไม่ชัดเจน ยังไม่สามารถสรุปได้

สรุป

คำแนะนำ ในการกินแคลเซียมเพื่อป้องกันกระดูกหักของ IOM (Institute of Medicine) ของสหรัฐอเมริกา คือ

  • แคลเซียมที่พอเพียงต่อวัน เป็นสิ่งจำเป็น เพราะช่วยลดภาวะกระดูกหักได้
  • ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการต่อวัน ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ตอนที่1
  • แคลเซียมเสริมอาหาร จำเป็นสำหรับผู้ที่กินอาหารที่มีแคลเซียมต่ำที่ส่งผลให้ได้รับปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอ แต่ถ้ากินแคลเซียมจากอาหารได้สูง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกินแคลเซียมเสริมอาหาร หรือต้องกินแคลเซียมเสริมอาหารในปริมาณที่เมื่อรวมกับจากอาหารแล้วไม่ควรเกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดต่อวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโทษ/ผลข้างเคียงจากแคลเซียม

บรรณานุกรม

Bauer,D. (2013). Calcium supplements and fracture prevention. NEJM. 369,1537-1543 [2016,March19]